ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยที่ได้รับการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ในระดับที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันทีและปราศจากจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อพืช (ปุ๋ยคอกสดมักจะขาดคุณสมบัติเหล่านี้) อาจประกอบด้วยเศษพืชเพียงอย่างเดียว หรือเศษพืชผสมกับมูลสัตว์ โดยปุ๋ยหมักนอกจากจะทำหน้าที่ให้อาหารแก่พืชโดยตรง ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน โดยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ให้ดินมีการอุ้มน้ำและระบายน้ำที่พอเหมาะ และมีการถ่ายเทอากาศที่ดีอีกด้วย
ประยุกต์จากจากหนังสือ เกษตรธรรมชาติ , ทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์
วัตถุดิบ
สำหรับปุ๋ยหมักมูลวัว 1 ตัน
- เศษพืช 650 กิโลกรัม
- มูลสัตว์ 350 กิโลกรัม
- เชื้อจุลินทรีย์ พด.1 1 ซอง
วิธีทำ
- ในการทำปุ๋ยหมักให้จัดหาที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง สำหรับปุ๋ยหมัก 1 ตัน จะใช้เนื้อที่ประมาณ 2 เมตร×3 เมตร และเพื่อความสะดวกควรแบ่งที่ไว้ข้างๆสำหรับกลับกองด้วย
- เตรียม พด.1 โดยละลายในอัตราส่วน 1 ซอง ต่อน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 15-20 นาที
- เตรียมปุ๋ยหมักโดยทำเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชหนาประมาณ 30-40 เซนติเมตร ทับด้วยมูลสัตว์หนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร และรดให้ทั่วด้วยน้ำ พด.1 ประมาณ 5 ลิตร ตามด้วยการรดน้ำให้มีความชื้นประมาณ 60% (ทดสอบได้โดยจับขึ้นมากำควรจะมีน้ำออกมาเล็กน้อย) ย่ำให้พอแน่น
- ทำเช่นนี้ จำนวน 4 ชั้น กองปุ๋ยควรมีขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 1.6 เมตร
- คลุมชั้นบนด้วยฟาง หญ้า หรือทางมะพร้าว ไม่ควรใช้พลาสติกหรือผ้าใบคลุม
- กลับกองทุกๆ 3-4 สัปดาห์ เพื่อลดอุณหภูมิ ระหว่างที่กลับกองถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปให้รดน้ำ
- หมักประมาณ 3 เดือน หรือจนวัสดุย่อยสลายตัวดี กลิ่นที่ได้จะเป็นกลิ่นดิน
เกร็ดความรู้
- ต้นทุนค่าวัตถุดิบต่อ ปุ๋ยหมัก 1 ตัน (ข้อมูลเฉพาะของทางไร่ปี 2556)
- ฟางอัด (น้ำหนัก 14-15 กิโลกรัม/มัด) มัดละ 35 บาท จำนวน 46 มัด รวมเป็นเงิน 1,610 บาท
- มูลวัว (น้ำหนัก ~25กิโลกรัม/กระสอบ) กระสอบละ 30 บาท จำนวน 26 กระสอบ รวมเป็นเงิน 780 บาท
- เชื้อ พด. 1 สามารถติดต่อขอรับได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน (ฟรี)
- ไม่แนะนำให้ใช้มูลไก่ เนื่องจากมีราคาแพงกว่าและจะส่งกลิ่นเหม็นในระหว่างที่หมัก ซึ่งนอกจากเป็นการรบกวนตัวผู้ผลิตเองและบริเวณใกล้เคียง ยังอาจเป็นการล่อแมลงวันหรือแมลงหวี่เข้ามาในพื้นที่
ประยุกต์จากปุ๋ยน้ำชีวภาพจากหนังสือ เกษตรธรรมชาติ , ทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์
เนื่องจากรำข้าวมีราคาค่อนข้างสูง ทางไร่ จึงประยุกต์สูตรโดยการทำหัวเชื้อก่อนแล้ว จึงนำหัวเชื้อไปต่อเชื้อเพื่อทำปุ๋ยหมักรำต่อไป ทั้งนี้สูตรข้างล่างเป็นเพียงการแนะนำ และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมต่อไป
ผลิตหัวเชื้อปุ๋ยหมักรำ
วัตถุดิบ
สำหรับผลิตหัวเชื้อปุ๋ยหมักรำ 100 กิโลกรัม
- รำละเอียด 60 กิโลกรัม
- มูลไก่ไข่ 40 กิโลกรัม
- เชื้อ พด.1 1 ซอง
- ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต 1 ช้อนทัพพี
วิธีทำ
- นำวัสดุทุกอย่างผสมคลุกเคล้ากัน และพรมน้ำให้มีความชื้น 40 % (ดูได้จากทดสอบเอามือปั้น ก้อนวัสดุควรจะยังคงรูปร่างอยู่)
- เมื่อคลุกให้เข้ากันแล้วให้คลุมกองด้วยกระสอบ
- กลับกองทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
- หมักไว้ 7-10 วัน
- เมื่อครบกำหนด ให้แผ่กองปุ๋ยเป็นการผึ่งให้แห้ง เมื่อแห้งดีได้เป็นปุ๋ยแห้งหัวเชื้อแล้ว จึงเก็บในกระสอบที่สามารถระบายอากาศได้ดี จะสามารถเก็บได้นาน (ไม่ควรเก็บนานเกิน 6 เดือน)
ผลิตปุ๋ยหมักมูลไก่
วัตถุดิบ
สำหรับผลิตปุ๋ยหมักมูลไก่ 105 กิโลกรัม
- หัวเชื้อปุ๋ยหมักรำ 5 กิโลกรัม
- มูลไก่ไข่ 100 กิโลกรัม
วิธีทำ (หมักในลักษณะเดียวกับการทำหัวเชื้อ)
- นำวัสดุทุกอย่างผสมคลุกเคล้ากัน และพรมน้ำให้มีความชื้น 40 % (ดูได้จากทดสอบเอามือปั้น ก้อนวัสดุควรจะยังคงรูปร่าง)
- เมื่อคลุกให้เข้ากันแล้วให้คลุมกองด้วย กระสอบ
- กลับกองทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
- หมักไว้ 7-10 วัน
- เมื่อครบกำหนด สามารถนำไปใช้งานได้
เกร็ดความรู้
- ต้นทุนค่าวัตถุดิบต่อหัวเชื้อปุ๋ยหมักมูลไก่ 100 กิโลกรัม (ข้อมูลเฉพาะของทางไร่ปี 2556)
- รำละเอียด 60 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 14 บาท รวมเป็นเงิน 840 บาท
- มูลไก่ไข่ 40 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 4 บาท รวมเป็นเงิน 160 บาท
- เชื้อ พด. 1 สามารถติดต่อขอรับได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน (ฟรี)
- ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ซองละ 30 บาท ใช้ประมาณ 1/7 ซอง อยู่ที่ประมาณ 4 บาท
- ต้นทุนค่าวัตถุดิบต่อ ปุ๋ยหมักมูลไก่ 105 กิโลกรัม (ข้อมูลเฉพาะของทางไร่ปี 2556)
- หัวเชื้อปุ๋ยหมักรำ 5 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 50 บาท
- มูลไก่ไข่ 100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 4 บาท รวมเป็นเงิน 400 บาท
- มาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีข้อกำหนดไม่ให้ใช้มูลสัตว์ที่มีการเลี้ยงแบบทารุณ ดังนั้นมูลไก่ไข่ต้องมาจากการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย