หัวข้อความรู้

ปุ๋ยชีวภาพ


ปุ๋ยชีวภาพหมายถึง ปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและให้คุณประโยชน์แก่พืช ยกตัวอย่างเช่น ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศให้แก่พืช ช่วยในการย่อยสลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืช สร้างฮอร์โมนธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่พืช

เชื้อจุลินทรีย์ที่จะกล่าวถึงในหัวข้อนี้ เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มักอาศัยอยู่ที่รากหรือปมรากของพืช โดยอยู่แบบพี่งพาอาศัยกับพืช นั่นคือเชื้อจุลินทรีย์จะได้รับอาหารจากพืชและในขณะเดียวกัน ตัวมันก็จะช่วยในการตรึงหรือย่อยสลายธาตุอาหารในดินให่้พืชดูดซึมนำไปใช้

ในที่นี้ได้แบ่งเชื้อเป็นสามกลุ่ม ตามสามธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) ที่จุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยให้พืชได้รับ


จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุไนโตรเจน

จุลินทรีย์กลุ่มนี้มีความสามารถในการสร้างเอนไซม์ไนโตรจิเนส ซึ่งสามารถเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนให้กลายเป็นกระอะมิโนและสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ ให้พืชนำไปใช้ได้ โดยมีสองกลุ่มใหญ่ๆคือ

กลุ่มที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับพืช

  • ไรโซเบียม (Rhizobium) อาศัยอยู่กับพืชตระกูลถั่ว
  • แฟรงเคีย (Frankia sp.) อาศัยอยู่ร่วมกับพืชสกุล Cassuaria เช่น สนประดิพัทธ์ สนทะเล
  • อะนาบีนา (Anabaena azollae) อาศัยอยู่กับแหนแดง
  • นอสทอก (Nostoc) เป็นสาหร่ายอาศัยอยู่กับต้นปรง

กลุ่มที่ไม่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับพืช

  • อะโซโทแบคเตอร์ (Azotobacter)
  • อะโซสไปริลลัม (Azospirillum)

ในที่นี้จะขอกล่าวแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไรโซเบียม ซึ่งอาศัยอยู่ที่ปมรากของของพืชตระกูลถั่วและช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ โดยจุลินทรีย์ดังกล่าว มักถูกนำไปใช้ร่วมกับปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน ทั้งนี้ข้อสำคัญคือต้องเลือกชนิดของไรโซเบียมให้ถูกต้องกับพืชตระกูลถั่วชนิดนั้นๆ

สามารถสั่งซื้อปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมได้ที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร 02-579-7522-3 ในราคาถุงละ 20 บาท ควรมีการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยระบุชนิดและปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการใช้ เพื่อสอบถามปริมาณปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

  • ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมปอเทือง 1 ถุงต่อเมล็ดพันธุ์ปอเทือง 4 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยชีวภาพโสนอัฟริกัน 1 ถุงต่อเมล็ดพันธุ์โสนอัฟริกัน 4 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วพร้า 1 ถุงต่อเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้า 10 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ชนิดของพืชตระกูลถั่วที่ทางกรมวิชาการเกษตรมีเชื้อโรโซเบียมให้บริการ มีดังนี้

พืชเศรษฐกิจ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลืองฝักสด
พืชผัก ถั่วฝักยาว ถั่วแดงหลวง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วหรั่ง ถั่วแปบ ถั่วปากอ้า ถั่วหวาน
พืชบำรุงดิน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วลิสงเถา เพอราเลีย ถั่วเซนโตรซิมา ถั่วซีราโตร ถั่วมะแฮะ ถั่วพุ่มดำ ถั่วอัลฟาฟ่า ถั่วคาโลโปโกเนียม ไมยราบไร้หนาม โสน ปอเทือง
พืชอาหารสัตว์ ถั่วฮามาต้า อัลฟาฟ่า ถั่วเซนโตรซีมา ถั่ววินคาเซีย ถั่วคาลวาเคต ไมยรา
พืชยืนต้น กระถินเทพา กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ ประดู่ ไม้แดง ไม้สาธร ชิงชัน พยุง แคบ้าน แคฝรั่ง จามจุรี พฤกษ์ ทองหลาง

ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมสามารถเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน ที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส และประมาณ 1 ปี ที่ 4-10 องศาเซลเซียส

สำหรับข้าวฟ่่างและข้าวโพด ทางกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน มีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์1 ซึ่งประกอบด้วยแบคทีเรียสามสกุล คือ อะโซโทแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม และไบเจอริงเคีย ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะช่วยตรึงไนโตรเจน ละลายฟอสเฟต และสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ปริมาณการใช้อยู่ที่ประมาณ 1 ถุงต่อเมล็ดพันธุ์สำหรับ 1 ไร่ การเก็บรักษาเชื้อ สามารถเก็บได้ชั่วคราวโดยไว้ในที่ร่มที่อุณหภูมิห้อง และจะเก็บได้นาน 1-3 เดือน หากเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

สำหรับนาข้าว ทางกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน มีการผลิตและจำหน่ายเชื้อพันธุ์แหนแดงที่มีเชื้ออะนาบีนาอาศัยอยู่เพื่อใช้ขยายพันธุ์เป็นปุ๋ยพืชสดให้แก่นาข้าวต่อไป

นอกจากนี้ สำหรับเชื้ออะโซโทแบคเตอร์ ก็จะมีอยู่ใน พด.12 ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งจะกล่าวถึงภายใต้หัวข้อจุลินทรีย์ที่ให้ธาตุโพแทสเซียมต่อไป


จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัส

ธาตุฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีการละลายที่ไม่ดีนัก และมักอยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พืช โดยเฉพาะในดินที่มีค่าความเป็นกรดหรือด่างต่ำหรือสูงเกินไป นอกจากนี้ ฟอสฟอรัสยังเป็นธาตุที่มีการเคลื่อนที่ในดินน้อยมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มีโอกาสสูงที่พืชจะไม่สามารถนำธาตุฟอสฟอรัสในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นจีงมักพบว่า การใช้จุลินทรีย์ที่ช่วยแปรสภาพให้ฟอสฟอรัสอยู่ในรูปที่ละลายได้ดีขึ้น และที่พืชนำไปใช้งานได้ง่าย ส่งผลให้การเจริญเติบโตของพืชดีขี้นในหลายพื้นที่

ทางกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร มีเชื้อสองจำพวกที่แนะนำให้ใช้

ปุ๋ยชีวภาพไมโครไรซ่า

เป็นปุ๋ยที่ประกอบไปด้วยเชื้อราอาบัสคูลาไมโครไรซ่า โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ที่บริเวณรากพืช และเจริญเข้าไปภายในรากแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยพืชจะให้อาหารจำพวกน้ำตาลแก่ไมโครไรซ่า ส่วนไมโครไรซ่าจะช่วยดูดธาตุอาหารที่สลายตัวยาก โดยเฉพาะฟอสฟอรัสและส่งต่อให้แก่พืช นอกจากนี้ยังช่วยให้รากพืชแตกแขนงมากขี้น และช่วยให้พืชทนทานต่อโรครากเน่าได้อีกด้วย

โดยปุ๋ยชีวภาพไมโครไรซ่าสามารถใช้ได้ดีกับไม้ผล ไม้ยืนต้น ยางพาราและพืชผักบางชนิด เช่นหน่อไม่ฝรั่ง ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมขี้นอยู่กับอายุของพืช ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้จากเอกสารแนะนำของทางกรมวิชาการเกษตร โดยปริมาณที่ใช้น้อยและคุ้มค่าที่สุด คือใช้กับดินเพาะชำในปริมาณ 2-3 กรัม (ครึ่งช้อนชา) ต่อต้น โดยเชื้อจะอยู่ในรากพืชไปตลอดชีวิตของพืช

สามารถสั่งซื้อปุ๋ยชีวภาพไมโครไรซ่าได้ที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร 02-579-7522-3 บรรจุถุงละ 500 กรัม ในราคาถุงละ 60 บาท โดยควรมีการสั่งซื้อล่วงหน้า

สามารถเก็บปุ๋ยชีวภาพไมโครไรซ่าได้ที่อุณหภูมิห้องแต่ต้องไม่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่โดนแสงแดดโดยตรง เป็นเวลานาน 1 ปี

ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต

จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตเป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ราเส้นใย ยีสต์ และแอคติโนมัยซีส โดยจุลินทรีย์เหล่านี้สามารถละลายอนินทรีย์ฟอสฟอรัสให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้สามารถใช้ร่วมกับหินฟอสเฟตเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการให้ธาตุฟอสฟอรัสมากขี้น

ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตของกรมวิชาการเกษตร มีจุลินทรีย์หลักเป็นจุลินทรีย์ประเภทเชื้อรา penicillium sp. และ/หรือ Pseudomonas sp. โดยสามารถใช้ได้ดีกับพืชผัก ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมขี้นกับอายุของพืช ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดจากเอกสารแนะนำของทางกรมวิชาการเกษตร โดยปริมาณที่ใช้น้อยและคุ้มค่าที่สุดคือใช้ผสมกับดินเพาะชำในปริมาณ 1 กรัม (1/4 ช้อนชา) ต่อหนี่งถาดเพาะ

สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร 02-579-7522-3 บรรจุถุงละ 500 กรัม ในราคาถุงละ 30 บาท โดยควรมีการสั่งซื้อล่วงหน้า ควรเก็บในที่เย็น ร่ม และมีอากาศถ่ายเท


จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุโพแทสเซียม

เช่นเดียวกับฟอสฟอรัส โพแทสเซียมในหลายพื้นที่ มักอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก จุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียบางพวกจะสามารถเข้าช่วยย่อยโพแทสเซียมในรูปแบบดังกล่าว ให้พืชนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุลินทรีย์พวกนี้ได้แก่ บาซิลลัส (Bacillus) บางชนิด

โดยจุลินทรีย์บาซิลลัส ดังกล่าวมีอยู่ใน ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ที่จะได้กล่าวแนะนำ ณ. ที่นี้

พด.12

ประกอบด้วยแบคทีเรียที่สำคัญดังนี้

  • แบคทีเรียตรีงไนโตรเจน Azotobacter tropicalis
  • แบคทีเรียละลายฟอสเฟต Burkholderia unamae
  • แบคทีเรียละลายโพแทสเซียม Bacillus subtilis
  • แบคทีเรียผลิตฮอร์โมนพืช Azotobacter chroococcum

โดยสามารถติดต่อขอรับ พด.12 ได้ฟรี ที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยก่อนนำไปใช้ ต้องมีการขยายเชื้อก่อนดังนี้

วัตถุดิบ

  • ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม
  • รำข้าว 3 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 1 ซอง

วิธีทำ

  • ผสม พด.12 และรำข้าวในน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  • รดสารละลาย พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้มีความชื้นประมาณ 70% (ทดสอบได้โดยจับขึ้นมากำควรจะมีน้ำออกมาเล็กน้อย เมื่อคลาย ยังคงสภาพอยู่ได้) ย่ำให้พอแน่น
  • ตั้งกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงประมาณ 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมเพื่อรักษาความชี้น
  • กองปุ๋ยหมักในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปไช้ได้

ปริมาณที่ใช้

พืชไร่ พืชผัก ใช้ที่ประมาณ 300 กิโลกรัม/ไร่

คุณสมบัติสำคัญของเชื้อกลุ่มนี้ คือไม่เป็นอันตรายต่อพืช แต่จะช่วยทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในดิน ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในพืช ตัวอย่างของเชื้อในกลุ่มนี้ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.)

ในที่นี้จะขอกล่าวโดยละเอียดถึงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดี ในการยับยั้งเชื้อราอื่นๆหลากหลายชนิด


เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

กลไกการควบคุมเชื้อโรคพืช

กลไกการควบคุมเชื้อโรคพืชของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสามารถแบ่งได้เป็นสามหลักใหญ่ๆคือ

  • ทำหน้าที่เป็นปาราสิต หรือแข่งขันในการใช้แหล่งอาหารและปัจจัยต่างๆของเชื้อโรคพืช
  • เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเข้าพันรัดรอบเส้นใยของเชื้อโรคพืช โดยอาจแทงเข้าสู่เส้นใยของเชื้อโรคพืช เส้นใยเชื้อโรคพืชที่ถูกพันรัดจะเกิดช่องว่างหรือเหี่ยวแฟบแล้วสลายตัวไปในที่สุด
  • ผลิตเอนไซม์ทำให้เกิดการเหี่ยวสลายของเส้นใยเชื้อโรคพืช

ชนิดของเชื้อราที่ควบคุมได้

  • เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) ทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ที่ลำต้น โรคยอดเน่าของต้นกล้า โรครากเน่า-โคนเน่า ต้นเน่า โรคเน่าคอดิน
  • เชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) ทำให้พืชเกิดโรคกล้าไหม้ รากเน่า โคนลำต้นหรือกอเน่าแห้ง ผลเน่า โรคเหี่ยว
  • เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้ โรคราเมล็ดผักกาด โรคโคนเน่า
  • เชื้อราไรช็อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) ทำให้เกิดอาการโรคเมล็ดเน่า เน่าระดับคอดิน กล้าไหม้ รากเน่า หัวเน่า แคงเกอร์บนลำต้น
  • เชื้อราไฟท็อบธอร่า (Phytopthora spp.) ทำให้พืชเกิดอาการโรครากเน่า–โคนเน่า เน่าดำยอด และรากเน่า
  • เชื้อราคอลเลคโตตริกรัม (Collectotrichum spp.) ทำให้เกิดโรคแอนแทรกโนสในพืชผักต่างๆ

ชนิดของพืชที่เหมาะสม

  • ไม้ผล โรคไม้ผลที่เกิดจากเชื้อราไฟท็อปธอร่า เกิดอาการโรครากเน่า–โคนเน่า ในทุเรียนและส้ม ควบคุมโรคได้โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าพร้อมส่วนผสมรองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยรอบโคนต้นตามรัศมีทรงพุ่มไม้ผล
  • พืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ยาสูบ หม่อน มันสำปะหลัง ฝ้าย ที่เกิดอาการโรคยอดเน่าของต้นกล้า โรครากเน่า–โคนเน่า โรคโคนและต้นเน่า โรคเน่าคอดิน ควบคุมโรคโดยการโรยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าพร้อมส่วนผสมรอบโคนต้นพืช หรือคลุกเมล็ดในพืชบางชนิด เช่น ฝ้าย ก่อนนำไปปลูก
  • พืชผัก เช่น พืชสวน มะเขือเทศ พริก มะเขือเปราะ แตง กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ เกิดอาการโรคราเมล็ดผักกาด โรคเหี่ยว รากเน่าโคนเน่า เน่าคอดิน ควบคุมโรคโดยการโรยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าพร้อมส่วนผสมรอบโคนต้นหรือคลุกเมล็ดก่อนปลูก
  • ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น มะลิ ซ่อนกลิ่น โป๊ยเซียน เยอบีร่า กล้วยไม้พันธุ์ Mokara เกิดอาการโรคเหี่ยว ควบคุมโดยโรยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าพร้อมส่วนผสมโรยรอบโคนต้น

ที่จำหน่ายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

สามารถสั่งซื้อเชื้อไตโครเดอร์ม่าได้จากทางห้องปฏิบัติการ ควบคุมโรคพืชโดยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 034-281-047 โดยหากซื้อเป็นหัวเชื้อชนิดแห้ง จะมีวิธีการเตรียมเชื้อก่อนนำไปใช้ดังนี้

วิธีผลิตเชื้อสดจากไตรโคเดอร์ม่าชนิดแห้ง

  • หุงข้าว หรือปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ในอัตรา ข้าว 3 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน (สำหรับข้าวแข็ง) หรือ ข้าว 5 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน (สำหรับข้าวใหม่ หรือข้าวอ่อน) ซึ่งเมื่อหุงออกมาแล้วจะได้ข้าวในลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • เมื่อหม้อหุงข้าวดีดให้ตักใส่ถุงขณะที่ยังร้อน โดยใช้ถุงทนร้อนขนาด ประมาณ 8นิ้วx11นิ้ว ใส่ถุงละประมาณ 250 กรัม (ประมาณ 3 ทัพพี) แล้วพับปากถุงทิ้งไว้ให้เย็น
  • เมื่อข้าวเย็น (เหลือความอุ่นเล็กน้อย) นำมาใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์ม่า ถุงละ 2–3 กรัม (หรือประมาณเท่าเมล็ดข้าวโพด 1 เมล็ด) ต่อถุง แล้วเย็บปากถุงด้วยลวดเย็บกระดาษ หรือใช้ยางวงรัดปากถุงให้แน่น จากนั้นขยำหัวเชื้อคลุกกับข้าว แล้วใช้เข็มแทงถุงเพื่อระบายอากาศ 30 – 40 รู การใส่หัวเชื้อควรทำในที่ที่ไม่มีลม เช่นในห้องที่ปิดมิดชิด
  • นำถุงข้าวที่ใส่เชื้อแล้วไปวางในที่ร่ม รอให้เชื้อเดิน การวางถุงให้วางราบกับพื้นและเกลี่ยข้าวให้แบนบางๆ พร้อมกับโหย่งถุงด้านบนขึ้น เพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ทั่วถุง วางทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เชื้อจะเดินเต็มถุง สร้างสปอร์เป็นสีเขียวเข้ม สามารถนำไปใช้งานได้ (เชื้อสดที่ได้ควรนำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้นาน 1 เดือน)

วิธีการนำเชื้อสดไตรโคเดอร์ม่าไปใช้

  • ใช้คลุกเมล็ด เชื้อสด 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
    โดยนำเชื้อสดใส่ลงในถุงพลาสติก แล้วเติมน้ำสะอาดเล็กน้อย จากนั้นใส่เมล็ดพืช แล้วเขย่าให้สปอร์สีเขียวเกาะติดเมล็ดพืชโดยทั่วถึง สามารถนำเมล็ดพืชไปปลูกได้ทันที
  • ใช้แช่เมล็ด | ฉีดพ่น | รดลงดิน เชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200-400 ลิตร
    โดยนำเชื้อสดผสมน้ำ กรองผ่านผ้าขาวบาง (ขยำให้สปอร์เชื้อสดละลายน้ำผ่านผ้าขาวบางไป) สามารถนำไปใช้แช่เมล็ด ท่อนพันธุ์ แง่ง เหง้า หน่อ กิ่งตอน (12-24 ชั่วโมง) หรือใช้พ่นต้นพืช รดหรือราดลงดินบริเวณโคนต้น หรือใต้ทรงพุ่ม
  • ใช้ผสมปุ๋ยหมัก เชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
    • ใช้หว่านบริเวณใต้ทรงพุ่มหรือบริเวณโคนต้น ในอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร
    • ใช้รองก้นหลุม ในอัตรา 10-20 กรัมต่อหลุม
    • ใช้ผลมดินเพาะกล้า ตามปริมาณปุ๋ยหมักที่เหมาะสม

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าร่วมกับเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส

กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนาสารเร่ง พด.3 เพื่อใช้ในการป้องกันและยับยั้งเชื้อโรคพืช โดยมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าร่วมกับเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส

พด.3

ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่สำคัญคือ

  • เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.)
  • เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.)

โดยสามารถติดต่อขอรับ พด.3 ได้ฟรี ที่กรมพัฒนาที่ดิน แต่ก่อนนำไปใช้ต้องมีการขยายเชื้อก่อนดังนี้

วัตถุดิบ

  • ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
  • รำข้าว 1 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยชีวภาพ พด.3 1 ซอง

วิธีทำ

  • ผสม พด.3 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  • รดสารละลาย พด. 3 ลงบนกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้มีความชื้นประมาณ 70% (ทดสอบได้โดยจับขึ้นมากำควรจะมีน้ำออกมาเล็กน้อย เมื่อคลาย ยังคงสภาพอยู่ได้) ย่ำให้พอแน่น
  • ตั้งกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงประมาณ 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมเพื่อรักษาความชี้น
  • กองปุ๋ยหมักในที่ร่มเป็นระยะเวลา 7 วัน แล้วจึงนำไปไช้ได้

ปริมาณที่ใช้

พืชไร่และพืชผัก ใช้ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม/ไร่

แหล่งที่มาข้อมูล