ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสดคือปุ๋ยที่ได้จากไถกลบพืชลงดินในขณะที่ยังสดอยู่ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและอินทรียวัตถุให้แก่พื้นที่ หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้ในเกษตรอินทรีย์ คือการปลูกปุ๋ยพืชสดหมุนเวียนกับพืชหลักเพื่อบำรุงดินประมาณ 1 รอบต่อปี ปุ๋ยพืชสดที่นิยมปลูกที่สุดจะเป็นพืชตระกูลถั่วเช่น ปอเทือง โสน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม เนื่องจากขี้นได้ง่ายและเติบโตได้ดี มีปมรากมากมาย ซึ่งเป็นที่อาศัยของเชื้อโรโซเบียมที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
พืชที่มักนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสด สามารถแบ่งได้เป็นสามชนิดหลักดังต่อไปนี้
พืชตระกูลถั่ว
เป็นพืชที่นิยมที่สุดในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว และที่รากมีปมเป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียไรโซเบียม ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ โดยสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
- พืชตระกูลถั่วที่ไถกลบแล้วย่อยสลายให้ธาตุอาหารได้เร็ว เช่น ปอเทือง โสนอัฟริกัน โสนอินเดีย โสนจีนแดง โสนไต้หวัน โสนคางคก ถั่วพร้า สามารถปลูกพืชหลักตามได้หลังจากไถกลบ 15-30 วัน
- พืชตระกูลถั่วที่ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เมล็ดและฝักใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์ เช่น ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วแปบ ถั่วแระ ถั่วแป๊ะยี ถั่วพลู ถั่วเหลือง ถั่วแขก ถั่วแดง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงไถกลบลงดิน ถั่วกลุ่มนี้มักไม่นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดโดยตรง
- พืชตระกูลถั่วที่ปลูกเพื่อคลุมดินและปราบวัชพืชบางชนิด นิยมปลูกในสวนไม้ผล นอกจากนี้ เมื่อต้น เถา หรือใบร่วงหล่น จะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน เช่น ถั่วลาย ถั่วเสี้ยนป่า ไมยราบไร้หนาม ถั่วสไตโล ถั่วคาโลโปโกเนียม ถั่วคุดซู ถั่วฮามาต้า ถั่วอัญชัน
- พืชตระกูลถั่วที่เป็นไม้ยืนต้น สามารถปลูกเป็นแนวป้องกันลม และเป็นแนวอนุรักษ์ดินและน้ำ ใบและกิ่งอ่อนสามารถสับกลบลงดินเป็นปุ๋ยพืชสดได้ เช่น กระถินยักษ์ ถั่วมะแฮะ แคฝรั่ง ครามป่า ขี้เหล็ก กระถินธรรมดา
พืชตระกูลหญ้า
มักปลูกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ก็สามารถปลูกแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงในดินมากกว่าการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน โดยย่อยสลายช้าและมีปริมาณธาตุอาหารต่างๆ น้อยกว่าพืชตระกูลถั่ว เช่น หญ้ามาเฮีย หญ้ารูซี่ หญ้าสตาร์ รวมถึงไผ่ชนิดต่างๆ
พืชน้ำ
เช่น ผักตบชวา จอก แหนแดง
การเลือกชนิดพันธุ์ของปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่ว ควรเลือกตามสภาพพื้นที่และช่วงเวลาที่ลงตัวของแต่ละไร่ โดยทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งพืชตามสภาพพื้นที่เป็นสามกรณีดังนี้
- พืชพื้นที่ลุ่ม คือพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ในสภาพดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีนัก สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพน้ำขัง เช่น โสนอัฟริกัน โสนอินเดีย โสนจีนแดง โสนคางคก โสนไต้หวัน
- พืชพื้นที่ดอน คือพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ในสภาพดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมไม่ถึง หากอยู่ในสภาพน้ำขังจะเน่าตายได้ เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วแป๊ะยี ถั่วแปบ ถั่วดำ และหญ้าต่างๆ
- พืชพื้นที่สูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน เชิงหรือชายเขา ใช้วิธีตัดกิ่งใบกลบลงดิน เช่น ถั่วมะแฮะ กระถิน ขี้เหล็ก แค ครามป่า
ทั้งนี้นอกจากการเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ การเลือกฤดูกาลที่เหมาะสมก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากปุ๋ยพืชสดชนิดนั้นๆ ตารางข้างล่าง จาก ประชา นาคะประเวศ และคณะ กรมพัฒนาที่ดิน ได้สรุปข้อมูลไว้เป็นอย่างดี เพื่อช่วยในการเลือกปุ๋ยพืชสดให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และฤดูกาลปลูก
ตารางแสดงข้อมูลการปลูกปุ๋ยพืชสดบางชนิด
ชนิดพืช | ลักษณะของพื้นที่ | ฤดูกาลปลูก | ปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ (กก./ไร่) |
วัน ออกดอก |
วัน ไถกลบ |
||
---|---|---|---|---|---|---|---|
เพื่อไถกลบ | เพื่อเก็บเมล็ด | เพื่อไถกลบ | เพื่อเก็บเมล็ด | ||||
ปอเทือง | ชอบที่ดอน มีการระบายน้ำดี | ก่อนหรือต้นฤดูฝน | กลางหรือปลายฤดูฝน | 5 | 2 | 50 | 45-50 |
โสน จีนแดง |
ที่ดอนและที่ลุ่ม มีปริมาณดินเหนียวสูง ทนเค็ม | ก่อนฤดูฝน 2-3 เดือน | กลางหรือปลายฤดูฝน | 5 | 2 | 36 | 60 |
โสน อินเดีย |
ชอบดินเหนียว ทนเค็ม | ก่อนฤดูฝน | ต้นหรือกลางฤดูฝน | 5 | 2 | 90 | |
โสน อัฟริกัน |
ที่ดอนและที่ลุ่ม ทนเค็ม | ก่อนฤดูฝน | ต้นหรือกลางฤดูฝน | 5 | 2 | 45 | 45 |
โสน คางคก |
ที่ลุ่มน้ำขัง ชอบดินเหนียว ทนเค็ม | ต้นฤดูฝน | กลางหรือปลายฤดูฝน | 8 | 3 | 45 | 45 |
ถั่วพุ่ม | ที่ดอน ทนแล้ง | ก่อนฤดูฝน | ปลายฤดูฝน | 8 | 5 | 45 | 40 |
ถั่วพร้า | ชอบดินเหนียวและดินกรด ทนแล้ง | ก่อนฤดูฝน ต้นฤดูฝน | ต้นหรือกลางฤดูฝน | 10 | 5 | 45-50 | 64 |
ถั่วแปบ | ที่ดอน ทนแล้ง | ก่อนหรือกลางฤดูฝน | กลางหรือปลายฤดูฝน | 5 | 3 | 70 | 60 |
ถั่วแระ | ชอบดินทราย ทนแล้ง | ต้นฤดูฝน | ต้นหรือกลางฤดูฝน | 6 | 2 | 80 | 60-70 |
ถั่วเขียว | ชอบที่ดอน ทนแล้ง | ก่อนฤดูฝน | ต้นและปลายฤดูฝน | 7 | 4 | 34-60 | 40 |
ถั่วเหลือง | ชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ทนแล้ง | ก่อนฤดูฝน | กลางหรือปลายฤดูฝน | 10 | 6 | 37 | 40 |
ถั่ว คาโลโปโกเนียม |
ชอบขี้นที่แฉะ พืชคลุมดิน | ต้นฤดูฝน | ต้นฤดูฝน | 3 | 1 | 90 | 60 |
ถั่ว ฮามาต้า |
ชอบดินร่วนปนทราย ไม่ทนแล้ง พืชคลุมดินและอาหารสัตว์ | ต้นฤดูฝน | ต้นฤดูฝน | 4 | 2 | 50-60 | 60 |
ถั่วคุดซู | ชอบดินเหนียว ทนแล้ง พืชคลุมดิน | ต้นฤดูฝน | ต้นฤดูฝน | 3 | 2 | 150 | 90 |
ถั่วลาย | ชอบดินทุกประเภท ทนแล้ง พืชคลุมดิน | ต้นฤดูฝน | ต้นฤดูฝน | 3 | 1 | 120 | 90 |
ไมยราบ ไร้หนาม |
ชอบดินทุกประเภท เขตร้อน | ต้นฤดูฝน | ต้นฤดูฝน | 3 | 1 | 90 | 60 |
ตารางแสดงปริมาณน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของปุ๋ยพืชสดบางชนิดในระยะออกดอก และเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารหลักในปุ๋ยพืชสด
ชนิดพืช | น้ำหนักสด (ตัน/ไร่) |
น้ำหนักแห้ง (ตัน/ไร่) |
%N | %P2O5 | %K2O | %ความชื้น |
---|---|---|---|---|---|---|
ปอเทือง | 5.0 | 0.99 | 1.98 | 0.40 | 2.14 | 81.55 |
โสนจีนแดง | 6.0 | 1.20 | 2.25 | 0.34 | 2.34 | 80.00 |
โสนอินเดีย | 5.0 | 0.92 | 2.55 | 0.35 | 3.63 | 81.70 |
โสนอัฟริกัน | 2.7 | 0.64 | 2.05 | 0.34 | 2.06 | 76.65 |
ถั่วพุ่ม | 4.0 | 0.49 | 2.92 | 0.45 | 4.00 | 87.53 |
ถั่วพร้า | 4.7 | 1.03 | 3.04 | 0.37 | 3.12 | 78.08 |
ถั่วแระ | 7.0 | 1.71 | 1.92 | 0.05 | 0.90 | 75.54 |
ถั่วเขียว | 4.0 | 0.69 | 0.39 | 0.43 | 4.16 | 82.80 |
ถั่วเหลือง | 3.0 | 0.58 | 2.71 | 0.56 | 2.47 | 80.80 |
ถั่วคาโลโปโกเนียม | 1.0 | 0.29 | 1.11 | 0.03 | 0.82 | 71.20 |
ถั่วฮามาต้า | 2.2 | 0.40 | 1.06 | 0.02 | 0.97 | 82.00 |
ถั่วคุดซู | 5.3 | 1.34 | 1.94 | 0.16 | 1.49 | 74.74 |
ถั่วลาย | 3.7 | 1.09 | 1.60 | 0.04 | 1.32 | 70.45 |
ไมยราบไร้หนาม | 4.0 | 1.18 | 1.04 | 0.04 | 1.03 | 70.50 |
ที่มา: ประชา นาคะประเวศ และคณะ กรมพัฒนาที่ดิน
ตารางแสดงอายุการไถกลบ น้ำหนักสดของพืช อัตราส่วน C:N ของพืช และปริมาณธาตุอาหารบางชนิด
ชนิดพืช | อายุการไถกลบ (วัน) | น้ำหนักสด (ตัน/ไร่) |
อัตราส่วน C:N | ปริมาณธาตุอาหาร (%) | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
N | P | K | Ca | Mg | ||||
ปอเทือง | 45-50 | 1.5-3.0 | 19.96 | 2.76 | 0.22 | 2.40 | 1.53 | 2.04 |
โสนจีนแดง | 45-60 | 1.0-2.0 | 18.93 | 2.85 | 0.43 | 2.10 | 0.79 | 1.83 |
โสนอินเดีย | 60-70 | 1.5-3.0 | 17.83 | 2.85 | 0.46 | 2.83 | 1.96 | 2.14 |
โสนอัฟริกัน | 45-60 | 2.0-3.0 | 18.30 | 2.87 | 0.42 | 2.06 | 0.82 | 1.74 |
ถั่วพุ่มดำ | 40-45 | 1.0-3.0 | 19.51 | 2.68 | 0.39 | 2.48 | - | - |
ถั่วพร้า | 45-60 | 1.5-3.0 | 21.11 | 2.72 | 0.54 | 2.14 | 1.19 | 1.56 |
ถั่วมะแฮะ | 45 | 2.0-4.0 | 27.33 | 2.34 | 0.25 | 1.11 | 1.45 | 1.92 |
ถั่วเหลือง | 40-45 | 1.5-2.0 | 20.45 | 1.79 | 0.51 | 1.32 | 2.03 | 1.36 |
ถั่วฮามาต้า | 60 | 1.0-2.0 | 24.57 | 2.47 | 0.17 | 1.29 | 1.04 | 1.16 |
ความชื้นโดยเฉลี่ยของปุ๋ยพืชสด 70-80%
ที่มา: ประชา นาคะประเวศ และคณะ, 2545 : 123
โดยเมล็ดพันธุ์ของปุ๋ยพืชสดบางชนิดเช่น ปอเทือง สามารถขอรับได้จากกรมพัฒนาที่ดินของพื้นที่นั้นๆ
เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสด ควรมีการคลุกเมล็ดพันธุ์กับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมก่อนนำลงปลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะคลุกโดยใช้น้ำมันพืชเป็นตัวจับผิว ข้อสำคัญคือต้องเลือกชนิดของไรโซเบียมให้ตรงกับพืชตระกูลถั่วชนิดนั้นๆ
สำหรับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร โทร.02-579-7522-3 ควรมีการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยแจ้งพันธุ์พืชและปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการใช้
ชนิดของพืชตระกูลถั่วที่ทางกรมวิชาการเกษตรมีเชื้อโรโซเบียมให้บริการ มีดังนี้
พืชเศรษฐกิจ | ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลืองฝักสด |
---|---|
พืชผัก | ถั่วฝักยาว ถั่วแดงหลวง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วหรั่ง ถั่วแปบ ถั่วปากอ้า ถั่วหวาน |
พืชบำรุงดิน | ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วลิสงเถา เพอราเลีย ถั่วเซนโตรซิมา ถั่วซีราโตร ถั่วมะแฮะ ถั่วพุ่มดำ ถั่วอัลฟาฟ่า ถั่วคาโลโปโกเนียม ไมยราบไร้หนาม โสน ปอเทือง |
พืชอาหารสัตว์ | ถั่วฮามาต้า อัลฟาฟ่า ถั่วเซนโตรซีมา ถั่ววินคาเซีย ถั่วคาลวาเคต ไมยรา |
พืชยืนต้น | กระถินเทพา กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ ประดู่ ไม้แดง ไม้สาธร ชิงชัน พยุง แคบ้าน แคฝรั่ง จามจุรี พฤกษ์ ทองหลาง |