หัวข้อความรู้

ความรู้เพิ่มเติม


ในการปลูกผักสลัดหรือผักกาดหอมของต่างประเทศ การหว่านเมล็ดลงในแปลงมักได้ผลไม่ดีนัก ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว มักจะมีการเพาะกล้าในถาดเพาะก่อน โดยในที่นี้ จะขอแนะนำสูตรการทำดินเพาะที่ทางไร่ใช้ในการเพาะกล้าผักกาดหอมและมะเขือเทศ ทั้งนี้ ดินของทางไร่จะเป็นดินเหนียวเป็นส่วนใหญ่ สำหรับในพื้นที่อื่น อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสูตรตามความเหมาะสมต่อไป


สูตรการทำดินเพาะ

  • ดินเหนียวจากในพื้นที่ 9.7 ลิตร (1.5 ถังปูน)
  • หญ้าหรือฟางแห้งปั่นละเอียด(อัดแน่น) 19.3 ลิตร (3 ถังปูน)
  • ปุ๋ยหมักมูลวัว 3.2 ลิตร (1/2 ถังปูน)
  • ปุ๋ยหมักมูลไก่ 1.2 ลิตร (1 ขัน)
  • ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต†† 1 ช้อนแกง

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ที่นี่
††สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ที่นี่

โดยปริมาณในสูตรดังกล่าวข้างต้น สามารถใช้เติมถาดเพาะขนาด 288 หลุม (เหมาะสำหรับผักกาดหอม) ได้ประมาณ 15 ถาด และสามารถเติมถาดเพาะขนาด 72 หลุม (เหมาะสำหรับมะเขือเทศ) ได้ประมาณ 7 ถาด


เกร็ดความรู้

  • ก่อนลงเมล็ด ควรโรยหน้าอีกที ด้วยชั้นดินที่ไม่มีปุ๋ยและเก็บความชี้นได้ดี ทั้งนี้ หากดินเป็นดินเหนียวเป็นหลัก แนะนำให้ใช้ สูตรดังนี้
    • ทรายแม่น้ำหยาบ (ทรายก่อสร้าง) หยาบ 3 ส่วนโดยปริมาตร
    • ดินเหนียว 1 ส่วนโดยปริมาตร
    • หญ้าหรือฟางแห้งปั่นละเอียด(อัดแน่น) 1 ส่วนโดยปริมาตร
  • เมล็ดผักสลัดต้องได้รับแสงแดดจึงจะงอกได้ (requires sunlight for germination) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กลบเมล็ด หรือหากกลบ ควรกลบเพียงพอดีกับตัวเมล็ด โดยสามารถใช้สูตรเดียวกับชั้นดินไร้ปุ๋ยข้างต้น อย่างไรก็ดี การที่ไม่สามารถกลบดินหนาได้ จะทำให้การรักษาความชี้นยากขี้น จีงต้องมีการควบคุมความชี้นที่ดี
  • สำหรับมะเขือเทศ เมล็ดไม่จำเป็นต้องได้รับแสงแดดเพื่อการงอก ในที่นี้ แนะนำให้กลบหนาประมาณ 0.5 ซม.
  • แนะนำให้ใช้ดินจากพื้นที่ที่จะลงปลูก เพื่อให้พืชคุ้นเคยกับดิน และจะช่วยให้พืชไม่ชะงักการเจริญเติบโตหลังลงกล้าที่แปลง

ในที่นี้ จะขอแนะนำอุปกรณ์บางอย่างและแหล่งข้อมูลที่อาจมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ (แหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษเป็นหลัก)


รถเข็นเก็บผัก

harvest cart

รถเข็นเก็บผักมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้เก็บผักได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถนำไปใช้ในการเคลื่อนย้ายถาดต้นกล้าได้อีกด้วย แบบที่แนะนำนี้ได้นำมาจาก Healthy Farmers, Healthy Profits project in the department of Biological and Systems Engineering at the University of Wisconsin.: --LINK--

โดยในแบบจะใช้วัสดุหลักเป็นอลูมิเนียม แต่เนื่องจากการเชื่อมอลูมิเนียมต้องอาศัยความชำนาญมากกว่าเหล็กและมีราคาแพงกว่า อีกทั้งจะไม่แข็งแรงเท่าเหล็กที่ความหนาเท่ากัน ผู้ใช้จึงอาจดัดแปลงใช้เป็นเหล็กกล่องแทนได้ อย่างไรก็ดี ข้อเสียของเหล็กคือ จะมีน้ำหนักมากกว่า จึงอาจไม่คล่องตัวเท่ารถเข็นอลูมิเนียมต้นแบบ และทั้งนี้ ผู้ใช้ควรปรับขนาดรถเข็นให้ได้ตามขนาดตะกร้าเก็บผักที่ต้องการใช้งานด้วย


ลูกกลิ้งเจาะและจัดระยะลงผัก

dibble pull

การลงผักที่ระยะพอเหมาะและเป็นระเบียบ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตได้ดี และจะทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการเก็บเกี่ยว

ในที่นี้ เช่นเดียวกับรถเข็นเก็บผักข้างต้น แบบลูกกลิ้งนี้ออกแบบโดย Healthy Farmers, Healthy Profits project in the department of Biological and Systems Engineering at the University of Wisconsin.: --LINK--

โดยในแบบ จะใช้ท่อพีวีซีขนาดใหญ่ (12") เป็นตัวลูกกลิ้ง และใช้ท่อพีวีซีขนาดเล็กลงเป็นตัวปุ่มกด และแขนลาก อย่างไรก็ดีสำหรับตัวปุ่มกด และ แขนลากลูกกลิ้ง ผู้ใช้อาจเปลี่ยนใช้เป็นเหล็กแป๊บแทน เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น


เครื่องลงเมล็ดในถาดหลุม

berry seeder

เครื่องลงเมล็ดในถาดหลุม เป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยลดปริมาณแรงงานที่ใช้ในการลงเมล็ดได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสที่จะทำให้เมล็ดเสียเนื่องจากการบีบจับที่แรงเกินไป หรือจากการติดเชื้อเนื่องจากการสัมผัสเมล็ด

ในที่นี้ ขอแนะนำที่ลงเมล็ด Berry Precision Seeder ของ Berry Seeder Company ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอเมริกา (ยังไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย) --LINK--

โดยที่ลงเมล็ดนี้จะอาศัยเครื่องดูดฝุ่นในการดูดเมล็ดให้ติดอยู่กับรูที่เจาะไว้อย่างแม่นยำบนแผ่นเพลต แล้วจึงนำแผ่นเพลตไปพลิกลงแนบกับถาดเพาะเพื่อจ่ายเมล็ดให้กับถาดเพาะต่อไป ทั้งนี้ เครื่องลงเมล็ดดังกล่าว จำเป็นต้องมีการออกแบบให้ตัวเครื่องมีขนาดพอดีกับถาดเพาะที่ต้องการใช้งาน


มีดสำหรับเก็บเกี่ยวผักสลัด

lettuce knife

ในที่นี้ จะขอแนะนำมีดสำหรับเก็บเกี่ยวผักสลัด K115 ของ Zenport --LINK--

มีดดังกล่าว มีลักษณะเฉพาะคือ มีคมมีดสองด้าน โดยจะมีคมมีดด้านข้างตามปกติเหมือนมีดทั่วไป และจะมีคมมีดอีกด้าน ตรงส่วนของปลายมีดที่จะทำมุมประมาณ 45 องศากับตัวมีด โดยวิธีการใช้งานสำหรับการเก็บเกี่ยวผักสลัดคือ จะใช้มือจับดันให้คมมีดของส่วนปลายมีดนั้น ตัดเฉือนลงที่ก้านของผักสลัด ซึ่งลักษณะดังกล่าว ช่วยให้สามารถตัดผักสลัดได้อย่างรวดเร็ว


เครื่องจักรทางการเกษตรอื่นๆ

ในที่นี้ จะขอแนะนำเครื่องจักรบางอย่าง ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้การทำงานทางเกษตรมีประสิทธิภาพมากขี้น ได้แก่

เครื่องหั่นย่อยซากพืช

โดยนอกจากจะมีประโยชน์ในการย่อยซากพืชหรือกิ่งไม้ให้เล็กลงเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถใช้ในการปั่นบดหญ้า ฟางหรือดิน (เช่นดินเหนียวที่เป็นก้อน) เพื่อนำไปทำดินเพาะได้อีกด้วย

รถไถเดินตามแบบขี้นแปลงผักได้

รถไถเดินตามของทางญี่ปุ่น นอกจากจะมีอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการปั่นพรวนดินในแปลงแล้ว ยังมักมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆที่น่าสนใจ ซึ่งในที่นี้จะขอแนะนำอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้ขึ้นแปลงผัก และอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้คลุมพลาสติกพร้อมกับขี้นแปลงผักไปในตัว

สามารถดูลักษณะการทำงานที่น่าสนใจนี้ได้ ที่นี่

พืชบางชนิดไม่สามารถเติบโตได้ดีในอากาศที่ร้อนจัด โดยอาจส่งผลให้พืชเจริญเติบโตช้าลง ไม่ติดดอก หรืออาจถีงขั้นเหี่ยวเฉาตาย ดังนั้น ในบางกรณี การติดตั้งสแลนพรางแสงอาจมีความจำเป็นและคุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ดี การติดตั้งโครงสร้างสแลน มีผลทำให้การเข้าทำงานของรถไถมีความยากลำบากมากขี้น จึงควรพิจารณาข้อดี ข้อเสียให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจติดตั้ง

ในที่นี้จะขอแนะนำวิธีการเบื้องต้นในการติดตั้งโครงสร้างสแลน อย่างไรก็ดี ทางไร่มิได้มีผู้ชำนาญเฉพาะ จึงไม่สามารถรับรองวิธีการที่จะกล่าวนี้ หากแต่เป็นการแนะนำเท่านั้น


ออกแบบโครงสร้างทั่วไป

ในที่นี้ ได้แสดงตัวอย่างการติดตั้งสแลนในพื้นที่ 50m×100m ตามแผนผังข้างล่างนี้

โดยจะขอกล่าวอธิบายถึงโครงสร้างในแต่ละส่วนตามลำดับ

1. เสา

shade pole

สามารถเป็นเสาปูน เสาไม้ หรือเสาเหล็กได้

ในที่นี้จะขอแสดงตัวอย่างเป็นเสาปูนเสริมเหล็กซึ่งทางไร่ใช้อยู่ เสาปูนมีข้อดีคือราคาถูก ไม่ผุและไม่ขึ้นสนิม แต่ข้อเสียคือมีความเปราะ (หักง่าย) และมีโอกาสบาดเส้นสลิงหากปล่อยให้สลิงมีการเสียดสีกับปูน เพราะปูนมีความแข็งสูงและมักมีเหลี่ยมมุมที่คม

ทั้งนี้ในรูปที่แสดงจะเป็นเสายาว 3 เมตร ฐานเป็นตีนช้างเพื่อให้สามารถกลบให้แน่นได้ โดยแนะนำให้กลบลึกประมาณ 40-50 ซม. สำหรับความกว้างของเสาจากตีนช้างขึ้นไปประมาณ 1.1 เมตร จะเป็นเสาหน้ากว้าง 6x6" ที่สูงจากนั้นขี้นไปจะเป็นเสาหน้ากว้าง 4x4" การทำเช่นนี้ เนื่องจากเสาบริเวณใกล้คอดินจะเป็นจุดที่รับแรงสูงที่สุดและเป็นจุดที่มีโอกาสเกิดการแตกร้าวได้ง่าย นอกจากนี้ ที่หัวเสา จะมีการทำรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1/2" (4 หุน) ไว้สำหรับใช้สอดห่วงอายสกรูขนาด 4 หุน และเพื่อให้สามารถใช้เป็นทางให้สลิงสอดรอดไปได้

2. สเตย์

shade stay

เป็นส่วนสำหรับตรึงหัวเสารอบนอกของโครงสร้างไว้กับพื้น เพื่อไม่ให้เสาโอนเอียงไปตามแรงดึงของสลิง ทั้งนี้สเตย์มีความสำคัญมากกับโครงสร้างสแลน และอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีสเตย์ โครงสร้างก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ โดยสำหรับตัวสเตย์นั้น อาจใช้เป็นการขุดหลุมและเทปูน โดยให้มีส่วนที่เป็นเหล็กเส้นที่พับเป็นห่วงยื่นออกรอรับเส้นสลิง ทั้งนี้หากใช้วิธีดังกล่าว แนะนำให้เชื่อมห่วงนั้นให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการง้างออกของห่วงในระยะยาว

หลักการติดตั้งสเตย์

  • สลิงของสเตย์ต้องใหญ่กว่าสลิงในโครงสร้าง
  • สลิงของเสตย์ไม่ควรทำมุมมากกว่า 45° จากพื้นดิน
  • จุดที่สลิงของสเตย์ยึดกับเสา ควรอยู่ที่ตำแหน่งที่สลิงในระบบยึดกับเสา

3. อุปกรณ์ในการยึดสลิงกับหัวเสา

shade tools

ประกอบไปด้วย

  • ห่วงอายสกรู (Eyebolts)
    ใช้สำหรับเป็นจุดยึดสลิงหรือเกลียวเร่งเข้ากับหัวเสา ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกลียวใหญ่กว่าสลิงที่ใช้
  • เกลียวเร่ง (Turnbuckles)
    ใช้สำหรับขันให้สลิงได้ความตึงตามต้องการ ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกลียวใหญ่กว่าสลิงที่ใช้
  • กริ๊บจับสลิง (Wire Rope Clips)
    ใช้สำหรับผูกยึดสลิงเข้าเป็นห่วงเพื่อยึดติดกับอุปกรณ์หรือชิ้นงานอื่น ทั้งนี้โดยมาตรฐานสำหรับสลิงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3/4" (6 หุน) จะใช้กริ๊บจำนวนสามชิ้น โดยควรมีระยะห่างระหว่างกริ๊บเท่ากับ 6 เท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของสลิงที่ใช้ ข้อสำคัญคือต้องเลือกใช้กริ๊บที่ขนาดตรงกับสลิงที่ใช้ และติดตั้งให้ด้านที่เป็นตัวยูของกริ๊บคล้องติดกับสลิงส่วนที่เป็นส่วนปลาย (dead end) ตามรูป อย่างไรก็ดี หากไม่ได้ติดตั้งให้สลิงมีความตึงมากและเป็นสลิงเส้นเล็ก ก็อาจลดจำนวนกริ๊บเป็นเพียงสองชิ้นได้

เกร็ดความรู้

  • หากมีการสอดสลิงผ่านเสาปูน ควรมีการสอดท่อพลาสติกที่ไม่แข็ง (ไม่ควรใช้ท่อประปาพีวีซี) ที่ทนแดดและทนการเสียดสีได้ เพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างสลิงกับปูน ในที่นี้ แนะนำให้ใช้เศษท่อพีอีที่เหลือใช้
  • การยึดสแลนเข้ากับสลิง อาจใช้คลิปหนีปผีเสื้อ หรือเชือกผูก หากใช้เชือกผูก ไม่แนะนำให้ใช้ เชือกไนล่อน เนื่องจากจะกรอบเมื่อโดนแดดในเวลาไม่นาน โดยแนะนำให้ใช้เชือกที่ทนแดดได้ เช่นเชือกสำหรับเล่นเรือใบซึ่งอาจมีราคาสูงกว่า แต่จะคุ้มค่ากว่ามากในระยะยาว
  • ในที่ที่มีลมแรงและโครงสร้างสแลนมีขนาดใหญ่ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการยึดสแลนแน่นติดกับสลิง แต่เป็นการร้อยเชือกพอหลวมเพื่อให้สแลนลอยขี้นตามลมได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับโครงสร้าง และจากประสบการณ์ของทางไร่ การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันลมมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันความเสียหายจากลมกรรโชก