การออกแบบระบบน้ำ
แรงดันโดยนิยาม คือแรงที่กระทำต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ นั่นคือ
$$P = {F \over A}$$เมื่อ
P คือ แรงดัน หน่วย pascal (pa=N/m2)
F คือ แรง หน่วย newton (N)
A คือ พื้นที่ หน่วย m2
เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจแรงดันน้ำได้ดีขี้น พิจารณาถังน้ำตามรูปข้างล่าง
ซึ่งมีน้ำบรรจุสูง H เมตร แรงดันที่ก้นถังจะเป็นเท่าไหร่
จากสมการแรงดัน เราต้องหาว่าแรงกดของน้ำที่กันถังต่อหน่วยพื้นที่ก้นถังคือเท่าไหร่
วิธีคิดวิธีหนึ่งคือให้เรามองที่พื้นที่ A ที่ก้นถัง จะเห็นว่าปริมาตรน้ำที่อยู่เหนือพื้นที่ A เป็น H×A ดังนั้น เราจะสามารถคำนวณแรงดันที่ก้นถังได้จากน้ำหนักของน้ำปริมาตร H×A ดังนี้
$$P = {F \over A} = {mg \over A} = {\rho V g \over A} = {\rho H A g \over A}=\rho g H$$เมื่อ
m คือ มวลของน้ำ หน่วย Kg
g คือ อัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นค่าคงที่ ที่ประมาณ 9.81 m/s2
ρ คือ ความหนาแน่นของน้ำ หน่วย Kg/m3 มีค่าประมาณ 1,000 Kg/m3 ที่น้ำ 4°C (ค่า ρ ของน้ำนี้ จะขี้นกับอุณหภูมิของน้ำ ไดยจะไล่จาก 1,000 Kg/m3 ที่น้ำ 4°C ลงไป ถีง 992 Kg/m3 ที่น้ำ 40°C (ดูค่า ρ ของน้ำที่อุณหภูมิต่างๆได้ที่ตารางล่างสุดในหน้าเวปนี้) จึงถือว่าค่าค่อนข้างคงที่ในช่วงอุณหภูมิน้ำที่ใช้งานทั่วไปในระบบจ่ายน้ำทางการเกษตร)
H คือ ความสูงของน้ำ หน่วยเป็นเมตร (m)
จะเห็นได้ว่าแรงดันของน้ำที่ก้นถังจะขี้นกับความสูงของน้ำในถังเท่านั้น (ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำ)
ดังนั้น จึงมีการนำความสูงของน้ำมาใช้เป็นหน่วยของแรงดันน้ำเช่นกัน โดยเรียกเป็น Head มีหน่วยเป็น เมตรของน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีถังน้ำบรรจุน้ำสูง 8 เมตร แรงดันของน้ำที่พร้อมให้เรานำมาใช้งาน หากเราเจาะรูที่ก้นถังจะเป็น Head = 8 เมตรของน้ำ ทั้งนี้ เราสามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วย Head (m) กับ Pascal ได้จากสมการด้านบนดังนี้คือ
$$ H = {P \over \rho g}$$นอกจากนี้ อีกหนึ่งหน่วยของแรงดันที่ควรรู้จัก เพราะมีการใช้งานที่แพร่หลาย คือ หน่วย bar โดยมีความสัมพันธ์กับหน่วย pascal ดังนี้
$$ 1 \;bar = 10^5 \;pascal $$สิ่งที่เราควรจดจำได้ในการออกแบบระบบน้ำทั่วไปคือ Head น้ำหนึ่งเมตร เท่ากับประมาณ กี่ bar
ถ้าเราลองคำนวณที่ น้ำ 20°C ซึ่งมีความหนาแน่น 998.2 Kg/m3 เราจะได้ แรงดันของ Head 1 เมตร เป็น
$$P = \rho g H = 998.2 \times 9.81 \times 1 = 9,792 \;pascal $$ $$= {9,792 \over 10^5} \;bar = 0.09792 \;bar$$นั่นคือ Head 1 m ของน้ำ (20°C) จะเทียบเท่ากับแรงดันประมาณ 0.098 bar หรือ ประมาณคร่าวๆ ได้ เป็น 0.1 bar
โดยทั่วไป วิธีคิดง่ายๆก็คือ
- Head น้ำ 1 เมตร จะเทียบเท่ากับแรงดันประมาณ 0.1 bar
- Head น้ำ 10 เมตร จะเทียบเท่ากับแรงดันประมาณ 1 bar
การคำนวณจะแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ในระบบไม่มีแรงเสียดทาน และในกรณีที่ระบบมีแรงเสียดทาน
การคำนวณแรงดันของน้ำจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในระบบที่ไม่มีแรงเสียดทาน
ในที่นี้เราจะพิจารณาระบบน้ำระบบหนึ่ง ตามสมมติฐานด้างล่างนี้
- 1. น้ำเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด (นั่นคือน้ำทุกจุดในระบบต่อเนื่องถึงกันหมด)
- 2. น้ำไม่สามารถถูกบีบให้เล็กลงได้ (incompressible liquid)
- 3. ไม่มีแรงเสียดทานต่อการไหลของน้ำในระบบ
ในกรณีนี้หากเราทราบแรงดันของน้ำ ณ. จุดหนึ่ง เราจะสามารถหาแรงดันของน้ำ ณ. อีกจุดหนี่งได้จาก Bernoulli Equation
$${\upsilon_1^2 \over 2 g} + {P_1 \over \rho g} + Z_1 = {\upsilon_2^2 \over 2 g} + {P_2 \over \rho g} + Z_2$$เมื่อ
υ คือ อัตราเร็วของการไหลของน้ำ (m/s)
Z คือ ความสูงของน้ำเทียบกับจุดอ้างอิง (m)
โดยเราสามารถเขียนสมการนี้ในรูปของ Head ได้้เป็น
$${\upsilon_1^2 \over 2 g} + H_1 + Z_1 = {\upsilon_2^2 \over 2 g} + H_2 + Z_2$$จะเห็นได้ว่า ในการใช้สมการดังกล่าว เราต้องทราบอัตราเร็วในการไหลของน้ำ ซึ่งจะสามารถคำนวณได้จากอัตราไหลของน้ำและพื้นที่หน้าตัดของน้ำ ณ. จุดที่สนใจ ทั้งนี้เราจะคำนวณจากกรณีที่ทั่วไปที่สุด คือการไหลของน้ำเต็มท่อสายส่ง ที่มีอัตราไหลของน้ำ Q (m3/s) และพื้นที่หน้าตัดของท่อ A (m2) ซึ่งจะได้ว่า
$$υ = {Q \over A}$$ตัวอย่างที่ 1: การคำนวณแรงดันของน้ำในระบบไร้แรงเสียดทาน
คำนวณหาแรงดัน ณ.จุดที่ 2
ในที่นี้จะใช้ สมการ Bernoulli ในรูปของ Head ดังนี้
$${\upsilon_1^2 \over 2 g} + H_1 + Z_1 = {\upsilon_2^2 \over 2 g} + H_2 + Z_2$$ $$H_2 = {\upsilon_1^2 - \upsilon_2^2 \over 2 g} + H_1 + Z_1 - Z_2$$สำหรับ น้ำ 20°C จะสามารถคำนวณ Head ณ. จุดที่ 1 ได้เป็น
$$H_1={4 \over 0.098}= 40.8 m$$คำนวณหาอัตราเร็วของน้ำ ณ. จุดที่ 1 ได้ดังนี้
$$\upsilon_1 = {Q_1 \over A_1} ={Q_1 \over π{\left(D_1 \over 2 \right)}^2}={\frac{3}{3600} \over π \left({\frac{57.2}{1000} \over 2} \right)^2} = 0.324 \frac{m}{s}$$เนื่องจากไม่มีการสูญเสียน้ำไปที่อื่นระหว่างจุดที่ 1 และจุดที่ 2 อัตราไหลของน้ำ ณ. จุดที่ 2 จะต้องเท่ากันกับ ณ. จุดที่ 1 เพราะฉะนั้น เราจะสามารถคำนวณหาอัตราเร็วของน้ำ ณ. จุดที่ 2 ได้ดังนี้
$$\upsilon_2 = {Q_2 \over A_2} ={Q_2 \over π{\left(D_2 \over 2 \right)}^2}={\frac{3}{3600} \over π \left({\frac{27.2}{1000} \over 2} \right)^2} = 1.434 \frac{m}{s}$$และจะสามารถคำนวณหา Head ณ.จุดที่ 2 ได้จาก
$$H_2 = {0.324^2 - 1.434^2 \over 2 \times 9.81} + 40.8 + 1- 3$$ $$= 38.7 m$$หรือคิดเป็น bar จะได้
$$P_2= 38.7 \times 0.098 = 3.79 bar$$การคำนวณแรงดันของน้ำจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งโดยคำนึงถึงแรงเสียดทาน
โดยทั่วไปแล้วนั้น การไหลของน้ำในท่อจะก่อให้เกิดแรงเสียดทานในระดับที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย โดยยิ่งถ้าผิวท่อด้านในมีความหยาบมาก แรงเสียดทานจะยิ่งมากขี้น และในขณะเดียวกัน ถ้าน้ำในท่อมีอัตราเร็วมากขี้น ผลจากแรงเสียดทานก็จะเพิ่มมากขี้นด้วย
ในการคำนวณแรงดัน ณ. จุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในระบบ เรายังคงสามารถใช้สมการ Bernoulli ในหัวข้อที่แล้วได้ แต่จำเป็นต้องมีการนำการสูญเสียแรงดัน Head loss (หรือการสูญเสียพลังงาน) ที่เกิดจากแรงเสียดทานรวมเข้าด้วย
โดยถ้าแรงดันสูญเสียจากการไหลจากจุดที่ 1 ไป จุดที่ 2 ในรูป Head loss คือ ΔH12 เราจะสามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้
$${\upsilon_1^2 \over 2 g} + H_1 + Z_1 = {\upsilon_2^2 \over 2 g} + H_2 + Z_2 + ΔH_{12}$$แรงดันสูญเสียในระบบน้ำโดยหลักๆแล้ว ประกอบด้วย
- A. แรงดันสูญเสียที่เกิดจากการไหลในท่อ
- B. แรงดันสูญเสียที่เกิดจากการไหลผ่าน fittings, valves หรืออุปกรณ์ต่างๆ
A. การคำนวณ Head loss ที่เกิดจากการไหลในท่อ
สำหรับท่อที่มีคุณสมบัติไม่เปลี่ยนแปลงตามตำแหน่งตามยาวของท่อ Head loss จะแปรผันตรงกับความยาวของท่อที่น้ำต้องไหลผ่าน ตามสมการ
$$ ΔH_{12,pipe} = J_{Q,pipe} \times L_{12}$$โดย
ΔHQ,pipe คือ Head loss จากการไหลจากจุดที่ 1 ไป จุดที่ 2
JQ,pipe คือ การสูญเสียพลังงาน (ไม่มีหน่วย) ซึ่งจะเป็นค่าเฉพาะตัวของท่อนั้นๆ ที่อัตราไหลหนึ่งๆ
L12 คือ ความยาวของท่อจากจุดที่ 1 ไป จุดที่ 2
จุดสำคัญในการคำนวณหา Head loss ที่เกิดจากการไหลของท่อ จึงเป็นการหา JQ,pipe ของท่อนี้ให้ได้ ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
การหาค่าของ JQ,pipe
มี 2 วิธีหลักๆ คือ 1. ดูจากแผนภูมิ และ 2. คำนวณจากสมการ
1. หาค่า JQ,pipe จากแผนภูมิ
ในที่นี้ ได้แสดงตัวอย่างของแผนภูมิ เป็นสามตัวอย่าง ดังนี้
แผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง A*
*Source: http://www.vinidex.com.au/technical/pe-pressure-pipe/hydraulic-design-for-pe-pipes/
แผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง B**
**Orignial document: --LINK--
แผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง C***
***Source: http://helid.digicollection.org/fr/d/Js2974e/6.12.html แต่มีการแก้ไขหน่วย m/100mm ของแกน y ให้เป็น 1/100m ในหน้าเวปนี้
ในบางครั้งผู้ผลิตอาจระบุ JQ,pipe ในรูปของแรงดันสูญเสีย/ความยาวในหน่วยอื่นๆ ซึ่งเราก็สามารถแปลงเป็น JQ,pipe ในรูปที่ไม่มีหน่วยได้ โดยเปลี่ยนแรงดันให้อยู่ในรูป Head (m) ก่อน
ในบางกรณี ทางผู้ผลิตอาจมิได้มีข้อมูล JQ,pipeให้ จึงอาจจำเป็นต้องหาแผนภูมิที่ทราบว่ามีการใช้วัสดุและวิธีการผลิตที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจคำนวณเองจากสมการตามหัวข้อต่อไป
2. หาค่า JQ,pipe โดยใช้สมการ
สมการที่ใช้ในการคำนวณ JQ,pipe มี 2 สมการหลักๆ คือสมการ Hazen-Williams และ สมการ Darcy-Weisbach
-
2.1 สูตรของ Hazen-Williams
2.2 สูตรของ Darcy-Weisbach
- 2.2.1 การหา Darcy friction factor จาก Moody Diagram
- 2.2.2 การหา Darcy friction factor จากสมการ
- 2.2.2.1 การไหลแบบ laminar (Re≤2,100)
- 2.2.2.2 การไหลในช่วง Transition (2,100<Re<4,000)
- 2.2.2.3 การไหลแบบ Turbulence (Re≥4,000)
สมการของ Hazen-Williams เป็นสูตร empirical ซึ่งจะคำนวณได้ง่ายกว่าสมการของ Darcy-Weisbach แต่มีข้อกำหนดในการใช้ คือ ท่อควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในมากกว่า 3 นิ้ว และมีอัตราไหลไม่ต่ำกว่า 11.3 m3/hr (50 gpm)
สมการของ Hazen-Williams เขียนได้ดังนี้
$$J_{Q,pipe} = 10.23 \left( \frac {Q} {C} \right)^{1.85} D^{-4.8655} $$โดย
Q คือ อัตราไหล (m3/s)
C คือ roughness coefficient (ไม่มีหน่วย)
D คือ เส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (m)
ค่าของ C ของวัสดุท่อชนิดต่างๆ มีดังนี้ (ข้อมูลจาก The Engineering ToolBox:--LINK--)
ตารางแสดงค่า Hazen-Williams Coefficient (C)
Material | Hazen-Williams Coefficient (C) |
---|---|
ABS - Acrylonite Butadiene Styrene | 130 |
Aluminum | 130 - 150 |
Asbestos Cement | 140 |
Asphalt Lining | 130 - 140 |
Brass | 130 - 140 |
Brick sewer | 90 - 100 |
Cast-Iron - new unlined (CIP) | 130 |
Cast-Iron 10 years old | 107 - 113 |
Cast-Iron 20 years old | 89 - 100 |
Cast-Iron 30 years old | 75 - 90 |
Cast-Iron 40 years old | 64-83 |
Cast-Iron, asphalt coated | 100 |
Cast-Iron, cement lined | 140 |
Cast-Iron, bituminous lined | 140 |
Cast-Iron, sea-coated | 120 |
Cast-Iron, wrought plain | 100 |
Cement lining | 130 - 140 |
Concrete | 100 - 140 |
Concrete lined, steel forms | 140 |
Concrete lined, wooden forms | 120 |
Concrete, old | 100 - 110 |
Copper | 130 - 140 |
Corrugated Metal | 60 |
Ductile Iron Pipe (DIP) | 140 |
Ductile Iron, cement lined | 120 |
Fiber | 140 |
Fiber Glass Pipe - FRP | 150 |
Galvanized iron | 120 |
Glass | 130 |
Lead | 130 - 140 |
Metal Pipes - Very to extremely smooth | 130 - 140 |
Plastic | 130 - 150 |
Polyethylene, PE, PEH | 140 |
Polyvinyl chloride, PVC, CPVC | 150 |
Smooth Pipes | 140 |
Steel new unlined | 140 - 150 |
Steel, corrugated | 60 |
Steel, welded and seamless | 100 |
Steel, interior riveted, no projecting rivets | 110 |
Steel, projecting girth and horizontal rivets | 100 |
Steel, vitrified, spiral-riveted | 90 - 110 |
Steel, welded and seamless | 100 |
Tin | 130 |
Vitrified Clay | 110 |
Wrought iron, plain | 100 |
Wooden or Masonry Pipe - Smooth | 120 |
Wood Stave | 110 - 120 |
*อย่างไรก็ดี ควรมีความระมัดระวังในการเลือกใช้ค่า C เพราะ คุณสมบัติของท่อ ขี้นอยู่ไม่น้อยกับคุณภาพในการผลิต
เป็นสมการดังนี้
$$J_{Q,pipe} = {8 f Q^2 \over \pi^2 D^5 g}$$โดย
Q คือ อัตราไหล (m3/s)
f คือ Darcy friction factor (ไม่มีหน่วย)
D คือ เส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (m)
g คือ อัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก
ข้อสำคัญในการใช้สมการ Darcy-Weisbach คือ ต้องทราบค่า Darcy friction factor (f) ก่อน ซึ่งวิธีการหา f นี้ จะมี 2 วิธีหลัก คือใช้แผนภูมิ หรือใช้สมการ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด เราจำเป็นต้องทราบ Reynolds number (Re) ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกลักษณะการไหลของของเหลวเสียก่อน
ตัวเลข Reynolds คำนวณได้จากสมการ
$$Re={\rho \upsilon D \over \mu} $$โดย
Re คือ Reynolds number (ไม่มีหน่วย)
ρ คือ ความหนาแน่นของน้ำ (Kg/m3)
υ คือ อัตราเร็วของการไหลของน้ำ (m/s)
D คือ เส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (m)
μ คือ ความหนืดเชิงไดนามิค dynamic visocity (Pa·s)
ความหนืดเชิงไดนามิคของน้ำที่อุณหภูมิต่างๆ สามารถดูได้ที่ตารางล่างสุดในหน้าเวปนี้
เมื่อคำนวณ ค่า Reynolds numberได้แล้ว จะสามารถทราบลักษณะการไหลของน้ำในท่อได้ ดังนี้
ตารางแสดงรูปแบบการไหลที่ค่า Reynolds number ต่างๆ
Re≤2,100 | Laminar Flow |
---|---|
2,100<Re<4,000 | Transition Flow |
Re≥4,000 | Turbulence Flow |
หลังจากทราบค่า Reynolds number เราจะหาค่า Darcy friction factor ได้ดังนี้
พิจารณา Moody Diagram ข้างล่างนี้
แผนภูมิ Moody****
****source=http://en.wikipedia.org/wiki/Moody_chart
จะเห็นได้ว่า เราจำเป็นต้องทราบความหยาบของผิววัสดุด้านในของท่อ คือ ε (m) แล้วนำไปหารด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ D (m) เพื่อให้ได้ ความหยาบเชิงอ้างอิง (relative roughness) ก่อน เพื่อนำไปอ่านค่าในแผนภูมิต่อไป
โดยหากไม่ทราบความหยาบภายในของท่อ ก็สามารถอ้างอิงได้จาก ที่นี่ แต่ก็ควรมีความระมัดระวังในการใช้ เพราะคุณสมบัติของท่อขี้นอยู่ไม่น้อยกับคุณภาพการผลิต
ข้อสังเกต หากการไหลยังเป็น laminar ความหยาบภายในของผิวท่อจะไม่มีผลต่อค่า friction factor แต่อย่างใด
ในกรณีนี้ สมการที่ใช้จะขี้นอยู่กับว่า การไหลเป็นแบบใด ดังนี้
ในกรณีนี้ Darcy friction factor จะคำนวณ ได้จาก
$$f = \frac{64}{Re} $$ซึ่งจะไม่ขี้นกับความหยาบภายในของผิววัสดุด้านในของท่อ
เนื่องจากการไหลในช่วงนี้ คาดคะเนได้ยาก จีงไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าควรจะใช้สมการใด อย่างไรก็ดี สำหรับการออกแบบ แนะนำให้ใช้สมการของช่วง Turbulence จะปลอดภัยกว่า
สูตรที่ใช้ในการคำนวณหา Darcy friction factor ในกรณีนี้ คือสมการ Colebrook–White
$$ \frac{1}{\sqrt f}=-2 log \left(\frac{\epsilon}{3.7D} + \frac{2.51}{Re \sqrt f} \right)$$โดย
f คือ Darcy friction factor (ไม่มีหน่วย)
Re คือ Reynolds number (ไม่มีหน่วย)
ε คือ ความหยาบของผิววัสดุด้านในของท่อ (m)
D คือ เส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (m)
จะเห็นได้ว่าสมการข้างต้นนี้ จะไม่สามารถคำนวณออกได้โดยตรงโดยที่ไม่ใช้ iteration ดังนั้น ในที่นี้ จะแนะนำให้ใช้สมการที่เป็นการประมาณ แต่มีความแม่นยำสูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้ iteration ทั้งนี้ จะมีสมการหลายชุดด้วยกันที่สามารถใช้ประมาณได้ แต่ในที่นี้จะแนะนำเพียงสมการของ Goudar-Sonnad ซึ่งเป็นกลุ่มสมการข้างล่างนี้
$$a=\frac{2}{ln(10)}$$ $$b=\frac{\epsilon \over D}{3.7}$$ $$d=\frac{ln(10) Re}{5.02}$$ $$s=bd+ln(d)$$ $$q=s^{\frac {s} {s+1}}$$ $$g=bd+ln \frac{d}{q}$$ $$z=ln \frac {q} {g}$$ $$D_{LA}=z \frac {g} {g+1}$$ $$D_{CFA}=D_{LA} \left( 1+\frac{z \over 2} {(g+1)^2 + {z \over 3} (2 g - 1)}\right)$$ $$f=\left[ a \left( ln \frac{d}{q} + D_{CFA} \right)\right] ^ {-2}$$โดย
f คือ Darcy friction factor (ไม่มีหน่วย)
Re คือ Reynolds number (ไม่มีหน่วย)
ε คือ ความหยาบของผิววัสดุด้านในของท่อ (m)
D คือ เส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อ (m)
เนื่องจากขั้นตอนในการคำนวณ Head loss ของท่อค่อนข้างจะมีหลายวิธี จึงขอสรุปเป็นแผนภูมิ เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนได้ง่ายขึ้น ดังนี้
B. แรงดันสูญเสียที่เกิดจากการไหลผ่าน fittings, valves หรืออุปกรณ์ต่างๆ
การคำนวณ Head loss ที่เกิดจากการไหลผ่าน fittings, valves หรืออุปกรณ์ต่างๆ โดยทั่วไป สามารถคำนวณหาได้จาก
$$ΔH_{local} = \frac{K \upsilon ^ 2}{2g}$$โดย
ΔHlocal คือ Head loss ที่เกิดจากการไหลผ่านอุปกรณ์หนึ่งๆ (m)
K คือ ค่าคุณสมบัติของการสูญเสียแรงดันของอุปกรณ์นั้นๆ (ไม่มีหน่วย)
υ คือ ความอัตราเร็วของการไหลของน้ำ (m/s)
ทั้งนี้ ค่า K อาจสามารถทราบได้จากการสอบถามทางผู้ผลิต หรือจากการทำการทดสอบเอง
C. การคำนวณ Head loss รวม
เมื่อทราบ Head loss จากจุดต่างๆที่น้ำไหลผ่านแล้ว เราจะสามารถคำนวณหา Head loss รวมที่เกิดจากการไหลจากจุดที่ 1 ไปจุดที่ 2 ได้ โดยเพียงนำ Headloss ทั้งหมดมาบวกรวมกัน
ตัวอย่างที่ 2: การคำนวณแรงดันของน้ำในระบบโดยคำนึงถึงแรงเสียดทาน
ใช้ข้อมูลจากตัวอย่างที่ 1 ลองคำนวณโดยคำนึงถึงแรงเสียดทานจากการไหลในท่อ โดยเปรียบเทียบการใช้ 2 วิธี
- a)ใช้ JQ,pipe จากแผนภูมิตัวอย่าง C สำหรับท่อ PE
- b)ใช้ สมการ Darcy-Weisbach โดยใช้ค่าความหยาบผิวในของวัสดุเป็น ε เท่ากับ 0.015mm
ในที่นี้ เราจะหา Head loss ที่เกิดจากการไหลผ่านท่อ 63mm และในส่วนที่เกิดจากการไหลผ่านท่อ 32mm แล้วนำมารวมกันเพื่อให้ได้ ΔH12
a) ใช้แผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง C
จะเห็นว่าในแผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง C จะมีการบอกอัตราไหลในหน่วย l/s ดังนั้น เราต้องแปลงอัตราไหลจากหน่วย m3/hr เป็น l/s ได้ดังนี้
$$ Q(l/s) = {3 \times 1000 \over 3600} = 0.833 $$จากนั้นจึงนำไปอ่านค่า JQ,pipe จาก แผนภูมิตัวอย่าง C โดยดูที่ตำแหน่งแกน x ที่ค่า 0.833 ไล่ไปหา เส้นกราฟของท่อ PE 63 mm จะได้ว่าที่แกน y ค่า JQ,pipe จะอยู่ที่ประมาณ 0.45 m/100m และสำหรับท่อ PE 32 mm จะได้ว่าที่แกน y ค่า JQ,pipe จะอยู่ที่ประมาณ 10 m/100m
เมื่อทราบค่า JQ,pipe แล้ว เราจะหาค่า ΔH ในแต่ละท่อได้ดังนี้
$$ΔH_{63mm}=J_{Q_1,63mm}×L_{63mm}=\frac{0.45}{100} \times 100 = 0.45 m$$ $$ΔH_{32mm}=J_{Q_2,32mm}×L_{32mm}=\frac{10}{100} \times 50 = 5 m$$และจะได้ว่า
$$ΔH_{12}=ΔH_{63mm}+ΔH_{32mm}=0.45+5=5.45m$$เราสามารถนำค่า ΔH12 ไปหักลบออกจากคำตอบเดิมจากตัวอย่างที่ 1 เพื่อหา Head ที่จุดที่ 2 ได้ ซึ่งจะได้ว่า
$$H_2=38.7-5.45=33.25m$$หรือคิดเป็น bar จะได้
$$P_2= 33.25 \times 0.098 = 3.26 bar$$b) ใช้สมการ Darcy-Weisbach
เราจะเริ่มโดยการหา Reynolds number ของแต่ละช่วงก่อน โดยสำหรับน้ำ 20°C ค่าความหนาแน่นจะอยู่ที่ 998.2 Kg/m3 และค่าความหนืดเชิงไดนามิคจะอยู่ที่ 1.002x10-3 Pa-s และเนื่องจากเราได้หาอัตราเร็วของการไหลของน้ำมาแล้วในตัวอย่างที่ 1 ของทั้งสองช่วงท่อ เราจะสามารถนำมาใช้คำนวณหา Reynolds number ได้ทันที จาก
$$Re_{63mm}={\rho \upsilon_{63mm} D_{in,63mm} \over \mu}={998.2 \times 0.324 \times \frac{57.2}{1000} \over 1.002 \times 10^{-3}}=18463 $$ $$Re_{32mm}={\rho \upsilon_{32mm} D_{in,32mm} \over \mu}={998.2 \times 1.434 \times \frac{27.2}{1000} \over 1.002 \times 10^{-3}}=38857 $$เนื่องจากค่าทั้งสองมากกว่า 4000 เราจึงทราบได้ว่า การไหลในท่อของทั้งสองช่วงเป็นแบบ Turbulence
ต่อไป จะเป็นการคำนวณหา Darcy fraction factor (f) โดยใช้ Moody diagram ซึ่งเราจำเป็นต้องคำนวณหาความหยาบเชิงอ้างอิงก่อน โดยตามที่โจทย์บอกให้ใช้ ε เท่ากับ 0.015mm เราจะคำนวณหาความหยาบเชิงอ้างอิงของแต่ละช่วงได้ดังนี้
$${\epsilon \over D_{in,63mm}}={0.015 \over 57.2}=2.62 \times 10^{-4}$$ $${\epsilon \over D_{in,32mm}}={0.015 \over 27.2}=5.51 \times 10^{-4}$$ทั้งนี้เมื่อเราทราบค่า Reynolds number และ ค่าความหยาบเชิงอ้างอิงแล้ว ก็จะสามารถนำไปอ่านค่า f จาก Moody diagram ได้ ซึ่งจะได้ว่าค่า f อยู่ที่ประมาณ 0.027 และ 0.024 สำหรับ ท่อ 63mm และ 32mm ตามลำดับ
เมื่อทราบ f แล้ว เราจะสามารถหา JQ,pipe ได้จากสมการ Darcy-Weisbach ดังนี้
$$J_{Q_1,63mm} = {8 f_{63mm} Q_1^2 \over \pi^2 D_{in,63mm}^5 g} = {8 \times 0.027 \times \left( \frac{3}{3600} \right)^2 \over \pi^2 \left( \frac{57.2}{1000}\right)^5 \times 9.81}$$ $$=2.53 \times 10^{-3}$$ $$J_{Q_2,32mm} = {8 f_{32mm} Q_2^2 \over \pi^2 D_{in,32mm}^5 g} = {8 \times 0.024 \times \left( \frac{3}{3600} \right)^2 \over \pi^2 \left( \frac{27.2}{1000}\right)^5 \times 9.81}$$ $$=9.25 \times 10^{-2}$$เพราะฉะนั้น เราจะหาค่า ΔH ในแต่ละท่อได้ดังนี้
$$ΔH_{63mm}=J_{Q_1,63mm}×L_{63mm}=2.53 \times 10^{-3} \times 100 = 0.25 m$$ $$ΔH_{32mm}=J_{Q_2,32mm}×L_{32mm}=9.25 \times 10^{-2} \times 50 = 4.63 m$$และจะได้ว่า
$$ΔH_{12}=ΔH_{63mm}+ΔH_{32mm}=0.25+4.63=4.88m$$ซึ่งเราสามารถนำค่า ΔH12 ไปหักลบออกจากคำตอบเดิมจากตัวอย่างที่ 1 เพื่อหา Head ที่จุดที่ 2 ได้ ซึ่งจะได้ว่า
$$H_2=38.7-4.88=33.82m$$หรือคิดเป็น bar จะได้
$$P_2= 33.82 \times 0.098 = 3.31 bar$$เมื่อเราทราบแรงดันที่หัวจ่าย เราจะสามารถคำนวณอัตราจ่ายน้ำของหัวจ่ายได้ตามสมการ
$$Q_d = K_d H_d^x $$โดย
Qd คืออัตราไหลของน้ำที่หัวจ่าย (m3/s)
Kd คือ ค่าคงที่ของการจ่ายน้ำของอุปกรณ์นั้นๆ
x คือ ค่าคงที่ exponent ของการจ่ายน้ำของอุปกรณ์นั้นๆ ไม่มีหน่วย มีค่า 0 ถึง 1
Hd คือ Head ณ. หัวจ่าย (m)
ทั้งนี้ ค่า Kd และ x เป็นค่าคุณสมบัติของหัวจ่าย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทราบได้จากทางผู้ผลิต หรือจากการทำการทดสอบเอง
จากสมการ จะเห็นได้ว่า x เป็นค่าสำคัญที่จะบ่งบอกว่าอัตราไหลของหัวจ่ายนั้นๆ ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของแรงดันที่หัวจ่ายมากน้อยเพียงใด ถ้า x เข้าใกล้ 0 แสดงว่าหัวจ่ายนั้นมีความเสถียรในปริมาณน้ำที่จ่ายในภาวะที่แรงดันที่หัวจ่ายเปลี่ยนแปลง ในทางตรงกันข้าม ถ้า x เข้าใกล้ 1 แสดงว่าหัวจ่ายนั้นมีอัตราจ่ายน้ำแปรผันตรงกับแรงดันที่หัวจ่าย โดย ค่า x ของ หัวฉีด (nozzle) ทั่วไป เช่น สปริงเกลอร์ (sprinkler) จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 0.5
ในหลายครั้ง การต่อระบบน้ำมักจะต้องเกี่ยวข้องกับการต่อหัวจ่ายชนิดเดียวกันมากกว่าหนี่งหัว ณ. จุดต่างๆในระบบ และมักต้องการให้มีอัตราจ่ายน้ำของแต่ละหัวจ่ายใกล้เคียงกันเพื่อความทั่วถึงในการรดน้ำในบริเวณกว้าง ซึ่งในกรณีนี้ เราจะลองเปรียบเทียบการจ่ายน้ำของหัวจ่ายน้ำชนิดหนึ่ง ที่แรงดัน H1 และ H2 โดยใช้สมการด้านบน ซึ่งจะได้ว่า
$$\frac{Q_{d,2}}{Q_{d,1}}=\frac{K_d H_{d,2}^x}{K_d H_{d,1}^x}$$ $$\frac{Q_{d,2}}{Q_{d,1}}=\left( \frac{H_{d,2}}{H_{d,1}} \right) ^x$$ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ในกรณีของสปริงเกลอร์ทั่วไป ค่า x จะอยู่ที่ประมาณ 0.5 นั่นคือ
$$\frac{Q_{d,2}}{Q_{d,1}}=\left(\frac{H_{d,2}}{H_{d,1}}\right)^{0.5} \space \space สปริงเกลอร์$$ดังนั้น หากเราต้องการให้อัตราไหลของแต่ละหัวจ่ายต่างกันที่ ไม่เกิน 10% โดยยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่ Qd,2 เป็น 90% ของ Qd,1 พอดี จะได้ว่า
$$\frac{Q_{d,2}}{Q_{d,1}}=0.9=\left(\frac{H_{d,2}}{H_{d,1}}\right)^{0.5}$$ $$\frac{H_{d,2}}{H_{d,1}}=0.9^2=0.81$$ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าเราต้องการให้อัตราไหลของหัวจ่าย ณ. จุดที่ 1 และ จุดที่ 2 ต่างกันไม่เกิน 10% เราต้องควบคุมแรงดันที่หัวจ่ายให้ต่างกันประมาณไม่เกิน 20% และนี่เป็นที่มาของหลักการในการออกแบบระบบน้ำที่ใช้กันทั่วไป ที่จะพยายามออกแบบระบบให้หัวจ่ายแต่ละตัวในระบบ เห็นแรงดันต่างกันประมาณไม่เกิน 20% อย่างไรก็ดี ในกระบวนการผลิตหัวจ่าย อาจไม่สามารถควบคุมให้ Kd ของหัวจ่ายทุกตัวเท่ากันได้ ดังนั้น ในการออกแบบระบบน้ำ จึงอาจต้องควบคุมให้แรงดันต่างของแต่ละหัวจ่ายต่ำกว่า 20% บ้าง
ในการออกแบบระบบน้ำ หลายครั้งเช่นกันที่จะมีการใช้ท่อที่มีหัวจ่ายแบบเดียวกัน ติดตั้งที่ระยะห่างเท่าๆกันตามแนวยาวของท่อ (ระบบ manifold) ดังแสดงในรูปข้างล่างนี้
ลักษณะที่ควรทราบของระบบ manifold ดังกล่าว มีดังนี้
- อัตราไหลจากต้นท่อไปจนถึงปลายท่อจะลดลงเรื่อยๆ (เพราะน้ำค่อยๆถูกจ่ายไปแต่ละหัวจ่าย)
- Head loss ต่อความยาวท่อจะลดลงเรื่อยๆเพราะอัตราไหลในท่อค่อยๆลดลง
- หากหัวจ่ายมีลักษณะการจ่ายน้ำแบบหัวฉีดหรือสปริงเกลอร์ จะพบว่า
- แรงดันของแต่ละหัวจ่าย จะลดลงในช่วง 40% แรกของความยาวท่อ เร็วกว่าในช่วง 60% ที่เหลือ
- อัตราไหลของแต่ละหัวจ่าย จะลดลงในช่วง 40% แรกของความยาวท่อ เร็วกว่าในช่วง 60% ที่เหลือ
- หัวจ่ายที่มีแรงดันและอัตราไหลเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งสายจะอยู่ที่ระยะประมาณ 40% ของความยาวสายนับจากต้นทาง
- 3/4 ของ Head loss ในสายจะเกิดอยู่ที่ประมาณ 40% แรกของความยาวสาย
วิธีการคำนวณ Head loss ในระบบ manifold
เราสามารถคำนวณได้จากสมการข้างล่างนี้คือ
$$ ΔH_{12,manifold} = F ΔH_{12,pipe} $$โดย
ΔH12,manifold คือ Head loss จากต้นถึงปลาย manifold (m)
F คือ ค่าตัวคูณลดของระบบ manifold เทียบกับ ถ้าน้ำทั้งหมดไหลจากต้นทางไปออกที่ปลายทางโดยไม่มีจุดจ่ายระหว่างทาง
ΔH12,pipe คือ Head loss จากต้นถึงปลายท่อ (m) โดยคิดว่าน้ำทั้งหมดที่ส่งเข้าสาย (Qtotal) ไหลผ่านท่อทั้งหมด (ราวกับไม่มีหัวจ่ายระหว่างทาง)
โดยสามารถคำนวณ F ได้จากสมการ†
$$F=\frac{1}{m+1}+\frac{1}{2N}+\frac{\sqrt{m-1}}{6N^2}$$เมื่อ
m คือค่าคงที่ที่ขึ้นกับลักษณะของหัวจ่าย โดยปกติจะใช้ที่ค่า 1.85, 1.9, หรือ 2.0
N คือจำนวนหัวจ่าย
สำหรับระบบสปริงเกลอร์ ทั่วไป สามารถใช้ m=2 ได้ และทั้งนี้ สมการดังกล่าวคำนวณโดยคิดว่าจุดจ่ายจุดแรกห่างจากทางเข้า manifold เท่ากับระยะห่างระหว่างหัวจ่าย (S) ตามรูปภาพที่แสดงข้างต้น
การออกแบบระบบน้ำจะเกี่ยวข้องกับการเลือกและวางตำแหน่งอุปกรณ์ระบบน้ำต่างๆเช่น ปัมป์ หัวจ่ายน้ำ fittings valves และอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงการเลือกสเปคและขนาดของท่อส่งน้ำที่เหมาะสม โดยในการเลือกและวางตำแหน่งหัวจ่าย ควรปรึกษาทางผู้ผลิตให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถออกแบบตำแหน่งการวางหัวจ่ายได้เหมาะสมกับลักษณะงานที่ต้องการ ทั้งนี้ ข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างที่ควรทราบก่อนการออกแบบ คือลักษณะภูมิศาตร์ของพื้นที่ ว่ามีตำแหน่งสูงต่ำคร่าวๆเท่าใด เพราะจะมีผลต่อ Head ที่ตำแหน่งต่างๆในพื้นที่ และในกรณีที่ตัวปัมป์อยู่สูงกว่าพื้นที่ที่ต้องการจ่ายน้ำพอสมควร อาจต้องมีการติดตั้งวาล์วสูญญากาศที่ต้นทางของท่อ เพื่อป้องกันการเกิดสูญญากาศในท่อ ซึ่งอาจทำให้ท่อยุบตัวหลังจากที่ปัมป์หยุดทำงาน
ในส่วนของการเลือกท่อส่งนั้น จะมีหลักการเบื้องต้นดังนี้
- เลือกสเปคของแรงดันของท่อให้เหมาะสม เช่นในกรณีของท่อ PE ทางผู้ผลิตจะมีการแจ้งค่า Pressure nominal โดยจะระบุเป็น PN ของท่อ ตามด้วยตัวเลขแรงดันใช้งานในหน่วย bar เช่น PN6.3 หมายถึงท่อสำหรับใช้งานที่แรงดันปกติไม่เกิน 6.3 bar
- เลือกขนาดท่อให้ Head loss ที่จะเกิดขี้นในท่อไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาการจ่ายน้ำที่ไม่ทั่วถึง เช่นในกรณีของ sprinkler ที่ได้กล่าวมาแล้ว sprinkler แต่ละตัวควรจะเห็นแรงดันต่างกันประมาณไม่เกิน 20% ของแรงดันใช้งาน
- เพื่อป้องกันความเสียหายของท่อส่งและการสูญเสียแรงดันที่มากเกินไป ควรออกแบบให้น้ำในท่อส่งมีอัตราเร็วของการไหลไม่เกิน 1.5 m/s
ในส่วนของการเลือกปัมป์น้ำนั้น ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องคำนวณหา Head และอัตราไหลของน้ำที่ปัมป์ต้องจ่าย โดยในส่วนของอัตราไหลของน้ำนั้น จะคำนวณได้จากการรวมอัตราไหลของน้ำที่หัวจ่ายทุกหัวที่ต้องการเปิดใช้งานพร้อมกัน ส่วนค่า Head ที่ปัมป์จะต้องทำได้ จะประกอบไปด้วย††
- ระยะความสูงของตัวปัมป์จากแหล่งน้ำ (suction lift)
- Head loss ที่เกิดที่อุปกรณ์ต้นทาง (control) เช่น อุปกรณ์กรองน้ำ มาตรวัดน้ำ
- Head loss ในท่อน้ำทั้งหมดจนถึงหัวจ่ายสุดท้ายของสาย
- Head ที่หัวจ่ายใช้ในการทำงาน
- ความแตกต่างของความสูงในพื้นที่เทียบกับตัวปัมป์ (อาจมีค่าเป็นลบได้ถ้าพื้นที่รดน้ำอยู่ต่ำกว่าตัวปัมป์)
- Head loss ที่ fittings และ valves ต่างๆ
สำหรับ Head loss ที่ fittings และ valves อาจคิดคร่าวๆได้ โดยคิดเป็น 10% ของ Head ที่ปัมป์ต้องจ่ายโดยยังไม่รวมความแตกต่างของความสูงของพื้นที่ (นั่นคือ 10% ของ (suction lift+Head loss ในอุปกรณ์ต้นทาง+Head loss ในท่อน้ำทั้งหมดจนถึงหัวจ่าย+Head ที่หัวจ่ายใช้ในการทำงาน))
หมายเหตุ จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้รวมเทอมของการเปลี่ยนแปลงพลังงานจลน์ (v2/2g ใน Bernoulli equation) เข้าใน Head ที่ปัมป์ต้องจ่าย เนื่องจากค่านี้มักจะไม่สูง โดยเฉพาะถ้าเราควบคุมอัตราเร็วน้ำไม่ให้เกิน 1.5 m/s
นอกจากนี้ ในการติดตั้งปัมป์ หากมีการดูดน้ำขึ้นจากแหล่งน้ำ ก็ควรคำนึงถึงตำแหน่งปัมป์ว่าจะสามารถติดตั้งได้สูงแค่ไหนจากแหล่งน้ำ (ดูหัวข้อการเลือกปัมป์น้ำ) และควรมีการติดตั้งหัวกะโหลกที่มีวาล์วกันน้ำไหลย้อน (foot valve) ที่ปลายสายดูด เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงอยู่ในสายดูดตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะปิดปัมป์ ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องล่อน้ำ (priming) ทุกครั้งก่อนที่จะใช้งาน ในส่วนของท่อส่งที่ออกจากปัมป์ก็ควรมีการติดตั้งวาล์วกันน้ำย้อนกลับ (check valve) ด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาปัมป์ในกรณีที่มีแรงดันย้อนกลับจากระบบ
ตัวอย่างที่ 3: การออกแบบระบบน้ำ
พิจารณาระบบน้ำด้านบน ซึ่งต้องการจ่ายน้ำเพื่อรดน้ำแปลงผัก 2 แปลง โดยจะรดน้ำทีละแปลง (ใช้การสับวาล์ว) ไม่รดพร้อมกัน แต่ละแปลงมีขนาด 40x40m2 และอยู่ในระดับความสูงเดียวกันหมด โดยในแต่ละแปลง ต้องการรดน้ำโดยใช้ sprinkler โดยติดตั้งที่ทุกๆ 2x2m2 โดย sprinkler ที่ใช้มีแรงดันใช้งานที่ประมาณ 2 bar จ่ายน้ำที่ 50l/hr ที่ 2 bar และมีค่า x ที่ประมาณ 0.5
ให้ใช้ JQ,pipeของแผนภูมิตัวอย่าง A คำนวณหา
- a) ขนาดของท่อที่เหมาะสมสำหรับสายส่ง lateral แต่ละเส้น (ท่อสีดำในรูป)
- b) ขนาดของท่อที่เหมาะสมสำหรับสายส่งรอง (2nd) (ท่อสีม่วงในรูป)
- c) ขนาดของท่อที่เหมาะสมสำหรับสายส่งหลัก (1st) (ท่อสีเขียวในรูป)
- d) อัตราไหลและ Head ที่ปัมป์ต้องจ่าย
a) ออกแบบขนาดท่อส่ง lateral
จากรูป จะเห็นว่าในแต่ละสาย lateral จะมี sprinkler อยู่จำนวน N=40m/2m=20 ตัว ซึ่งเราสามารถหาค่า F ของ lateral ได้เป็น (โดยคิดว่าหัวจ่ายแรกอยู่ที่ระยะ 1 เมตรจากสายส่งรอง และใช้ m=2)
$$ F_{lat}=\frac{1}{2+1}+\frac{1}{2 \times 20}+\frac{\sqrt{2-1}}{6 \times 20^2}=0.359$$จากหัวข้อที่แล้ว หากเราต้องการให้ sprinkler ตัวแรกและตัวสุดท้ายของสายมีอัตราจ่ายน้ำต่างกันไม่เกิน 10% เราต้องออกแบบให้หัวจ่ายเห็นแรงดันต่างกันไม่เกิน 20% นั่นคือ แรงดันสูญเสียในสาย lateral จะต้องไม่เกิน 0.2x2bar=0.4bar หรือ คิดเป็น Head loss ไม่เกิน 0.4/0.098=~4m ซึ่งถ้าเราใช้สูตร ของ manifold จะพบว่า
$$ ΔH_{lat,pipe}={ΔH_{lat,manifold} \over F_{lat}}={4 \over 0.359}=11.14m $$นั่นคือ เราต้องเลือกสายที่สามารถจ่ายน้ำได้ที่
$$Q_{total,lat}= Q_{sprinkler} \times N_{sprinkler}=50 \times 20=1000l/hr$$ $$=\frac{1000}{3600}l/s=0.278l/s$$และค่า JQ,pipe ต้องไม่เกิน
$$J_{Q,pipe,lat} \le {ΔH_{lat,pipe} \over L_{lat}}=\frac{11.14}{40}=0.279$$ซึ่งหากเราตรวจสอบดูจากแผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง A จะเห็นได้ว่าที่ Q=0.278l/s นั้น ท่อ 16mm/PN12.5 จะให้ค่า JQ,pipe อยู่ที่ 50/100=0.5 ซึ่งมากเกินไป ดังนั้นเราต้องเลือกขนาดท่อที่ใหญ่ขี้นคือ ท่อ 20mm/PN12.5 (ไม่จำเป็นต้องเลือก PN16 เพราะแรงดันใช้งานของเราเพียงประมาณ 2 bar) ซึ่งจะให้ค่า JQ,pipe อยู่ที่ 16/100=0.16 ทั้งนี้ การเลือกท่อขนาดใหญ่ขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว เนื่องจากเราจำเป็นต้องเผื่อแรงดันที่จะต้องตกเพิ่มเติมในสายส่งรอง ซึ่งอาจส่งผลให้ Head loss เกิน 20% ได้
ทั้งนี้เราควรต้องเช็คด้วยว่าอัตราเร็วของน้ำในท่อจะเกิน 1.5m/s หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ทันทีจากในแผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง A ว่าไม่เกิน จึงสามารถนำมาใช้งานได้ โดยเมื่อเราเลือกขนาดท่อที่ต้องการได้แล้ว เราจะสามารถคำนวณหา Head loss ในสาย lateral ได้ ดังนี้
$$ ΔH_{lat,manifold} = 0.359 \times 0.16\times 40=2.3m $$b) ออกแบบขนาดท่อส่งรอง
สำหรับสายส่งรองนั้น เราก็สามารถใช้หลักการเดียวกันกับในข้อ a) ได้ อย่างไรก็ดี ในที่นี้ เราจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดที่จะให้ Head loss ของ sprinkler ทุกๆตัวในระบบต่างกันไม่เกิน 4 m จะเหลือเป็น 4-2.3=1.7m (เนื่องจากเราทราบแล้วว่าสาย lateral มี Head loss จากต้นถึงปลายสายเป็น 2.3m อยู่แล้ว) ทั้งนี้ ในการคำนวณหาขนาดสายส่งรองนี้ เราสามารถคำนวณเพียง 1 แขนของสายส่ง จาก 4 แขน (ดูรูป) ซึ่งใน 1 แขน จะมีทางออกน้ำอยู่ N=1/2x40m/2m=10 จุด ซึ่งถ้าเราใช้ m ที่ 2.0 จะได้ว่า
$$ F_{2nd}=\frac{1}{2+1}+\frac{1}{2 \times 10}+\frac{\sqrt{2-1}}{6 \times 10^2}=0.385$$และถ้าต้องการให้ Head loss ไม่เกิน 1.7m จะพบว่า
$$ ΔH_{2nd,pipe} = {ΔH_{2nd,manifold} \over F_{2nd}}={1.7 \over 0.385}=4.42m $$นั่นคือ เราต้องเลือกสายที่สามารถจ่ายน้ำได้ที่
$$Q_{total,2nd}= Q_{lat} \times N_{lat}=1000 \times 10=10000l/hr$$ $$=\frac{10000}{3600}l/s=2.78l/s$$และค่า JQ,pipe ต้องไม่เกิน
$$J_{Q,pipe,2nd} \le {ΔH_{2nd,pipe} \over L_{2nd}}=\frac{4.42}{20}=0.221$$ซึ่งหากเราตรวจสอบดูจากแผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง A จะเห็นได้ว่าที่ Q=2.78l/s นั้น ท่อที่ให้ค่า JQ,pipe ต่ำกว่า 0.221 พอดี จะเป็นท่อ 40mm/PN6.3 อย่างไรก็ดี จะเห็นจากแผนภูมิว่า หากเลือก ท่อ 40mm/PN6.3 อัตราเร็วของน้ำจะสูงกว่า 2.5m/s (โดยเฉพาะในส่วนที่ใกล้ต้นทาง เพราะยังไม่มีการจ่ายน้ำออกไปแต่ละ lateral) ซึ่งจะมากกว่าเกณฑ์ 1.5m/s ที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น เราควรเลือกท่อที่ให้อัตราเร็วน้ำไม่เกิน 1.5m/s ที่ Q=2.78L/s ซึ่งจากแผนภูมิ จะพบว่าเราควรจะเลือกท่อ 63mm/PN6.3 ซึ่งจะให้ค่า JQ,pipe อยู่ที่ประมาณ 2.3m/100m
หลังจากที่เลือกขนาดท่อที่ต้องการแล้ว เราจะสามารถคำนวณหา Head loss ในสายส่งรองได้ ดังนี้
$$ ΔH_{2nd,manifold} = 0.385 \times 0.023 \times 20=0.177m $$โดย ณ. เวลานี้ เราจะสามารถคำนวณหาแรงดันต่างระหว่าง sprinkler ตัวที่อยู่ใกล้ต้นทางที่สุดและตัวที่อยู่ห่างที่สุดได้เป็น
$$ΔH_{sprinkler,max}=ΔH_{2nd,manifold}+ΔH_{lat,manifold}=0.177+2.3$$ $$=2.48m$$หรือคิดเป็น bar จะได้
$$ΔP_{sprinkler,max}=2.48 \times 0.098=0.24bar$$ซึ่งจะยังคงน้อยกว่า 20% ของ 2 bar ตามที่ต้องการอยู่
c) ออกแบบขนาดท่อส่งหลัก
ในกรณีของสายส่งหลักนั้น เราไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องแรงดันที่จะทำให้ sprinkler จ่ายน้ำไม่เท่ากัน เพียงแต่พิจารณาในเรื่องแรงดันตกที่เรารับได้ และในอัตราเร็วน้ำที่ไม่เกิน 1.5 m/s ซึ่งในกรณีนี้ อัตราไหลของน้ำที่สายส่งหลักจะต้องจ่ายเพื่อรดหนึ่งแปลงผักจะเท่ากับ
$$Q_{total,1st}= 2 \times 10000l/hr=20m^3/hr=2 \times 2.78l/s=5.56l/s$$ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากแผนภูมิ JQ,pipe ตัวอย่าง A จะพบว่าที่ 5.56l/s ท่อขนาด 75mm/PN6.3 จะให้อัตราเร็วน้ำที่สูงกว่า 1.5m/s เล็กน้อย ดังนั้นจึงควรเลือก ท่อขนาดถัดไป คือ 90mm/PN6.3 ซึ่งมิได้แสดงในแผนภูมิตัวอย่าง A โดยเราสามารถดูที่แผนภูมิตัวอย่าง B ซึ่งจะได้ว่าที่ Q=5.56l/s จะให้ค่า JQ,pipe ประมาณ 13m/1000m ดังนั้นเราจะคำนวณหา Head loss ในสายส่งหลักนี้ได้เป็น
$$ ΔH_{1st,pipe} = J_{Q,90mmPN6.3} \times L_{1st}= \frac{13}{1000} \times 100=1.3m$$หรือคิดเป็น bar จะได้
$$ΔP_{1st,pipe}=1.3 \times 0.098=0.127bar$$d) คำนวณหาอัตราไหลและ Head ที่ปัมป์ต้องจ่าย
Head ที่ปัมป์ต้องทำให้ได้ สามารถคำนวณได้ดังนี้ (โดย Head loss ที่เกิดจากอุปกรณ์ต้นทาง เช่นเครื่องกรอง จำเป็นต้องคำนวณตามข้อมูลของผู้ผลิตนั้นๆ โดยในที่นี้ จะใช้ค่า 7m)
$$Head_{suction} = 3m$$ $$ΔHead_{control} = 7m$$ $$ΔHead_{1st,pipe} = 1.3m$$ $$ΔHead_{2nd,manifold} = 0.18m$$ $$ΔHead_{lateral,manifold} = 2.3m$$ $$Head_{sprinkler} = {2 \over 0.098} =20.41m$$ซึ่งจะรวมได้เป็น
$$Head_{subtotal}=3+7+1.3+0.18+2.3+20.41=34.19m$$ $$ΔHead_{fittings}={10 \over 100} \times 34.19 =3.42m$$ $$ΔZ=Z_2-Z_1=1.5-3.0=-1.5m$$เพราะฉะนั้น Head ที่ปัมป์ต้องทำให้ได้ คือ
$$Head_{pump}=34.19+3.42-1.5=36.1m$$หรือคิดเป็น bar ได้
$$P_{pump}=36.1 \times 0.098 =3.54 bar$$ที่
$$Q_{pump}=20 m^{3}/hr $$ในการเลือกปัมป์น้ำ มีแผนภูมิ 4 อย่างที่ควรต้องรู้จักและทำความเข้าใจเสียก่อน ซึ่งแผนภูมิทั้งสี่นี้แสดงค่า 4 อย่างที่อัตราไหลต่างๆ ดังแสดงในรูปตัวอย่างข้างล่างนี้ (Source: Pedrollo 2CP Series-Characteristic curves and performance data)
1.แผนภูมิ Q-H (Head vs. Flow rate)
เป็นแผนภูมิหลักที่สำคัญที่สุดในการเลือกปัมป์ โดยจะแสดง Head ที่อัตราไหลต่างๆที่ปัมป์ทำได้ โดยลักษณะสำคัญของแผนภูมินี้ คือ Head หรือแรงดันสูดสุดที่ปัมป์ทำได้จะเกิดขี้นที่อัตราไหลเป็นศูนย์ (เช่นในขณะที่ปัมป์ทำงาน แต่ปิดวาล์วทุกวาล์วในระบบ) และ Head ที่ปัมป์ทำได้จะลดลงตามปริมาณน้ำที่ปัมป์์ต้องจ่ายเพิ่มขี้น
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก่อนที่จะทำการเลือกปัมป์เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าระบบน้ำของเราต้องการ Head และอัตราไหลที่เท่าไหร่ ที่ปัมป์จะต้องจ่าย (ดูจากหัวข้อที่แล้ว) แล้วจึงเลือกปัมป์ที่สามารถตอบสนองจุดทำงานนั้นได้ ทั้งนี้ ควรที่จะเลือกจุดทำงานที่ใกล้กับจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของปัมป์ ซึ่งสามารถดูได้จากแผนภูมิถัดไป
2.แผนภูมิ Q-η (Efficiency vs. Flow rate)
โดยทั่วไปหากมิได้ระบุชัดเจนเป็นอย่างอื่น ประสิทธิภาพนี้คือประสิทธิภาพของตัวปัมป์ในส่วนที่ทำให้เกิดแรงดันน้ำ (ซึ่งยังมิได้รวมส่วนของประสิทธิภาพของมอเตอร์) ซึ่งคำนวณได้จาก
$$η_p = {P_H \over P_2} = {\rho g Q H \over P_2} $$โดย
ηp คือประสิทธิภาพของปัมป์น้ำ
PH คือกำลังที่ปัมป์ส่งให้น้ำ (W)
P2 คือกำลังขาเข้าที่เพลาปัมป์ (W)
ρ คือ ความหนาแน่นของน้ำ หน่วย (Kg/m3)
g คือ อัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก (9.81 m2/s)
Q คืออัตราไหลของน้ำ (m3/s)
H คือ Head (m)
ดังที่ได้กล่าวแล้ว การเลือกปัมป์ควรเลือกให้จุดทำงานอยู่ใกล้จุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีการเผื่อในกรณีที่ต้องมีการจ่ายน้ำที่อัตราสูงขี้นบ้างเช่นกัน
3.แผนภูมิ Q-P2 (Power into pump shaft vs. Flow rate)
แผนภูมินี้แสดงค่าสุทธิของกำลังที่ต้องส่งให้เพลาของปัมป์ เพื่อให้ได้อัตราไหลและแรงดันตามที่แผนภูมิ Q-H แสดง
4.แผนภูมิ Q-NPSH (Net Positive Suction Head vs. Flow rate)
NPSH คือ ค่าแรงดัน(สุทธิ)ที่ต่ำที่สุดที่ของเหลวต้องมี ณ.ขาเข้าของปัมป์ เพื่อไม่ให้เกิดโพรงอากาศในตัวปัมป์ขณะที่ปัมป์ทำงาน โดยค่า NPSH นี้ จะสูงขี้นเมื่อปัมป์ต้องจ่ายน้ำที่อัตราสูงขี้น
ค่า NPSH นี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะสามารถติดตั้งปัมป์ที่ความสูงที่สุดเท่าไหร่จากผิวน้ำของแหล่งน้ำที่ปัมป์ต้องดูดขี้นมา โดยจะคำนวณได้จาก
$$h_{max} = H_b - H_f - NPSH - H_v -H_s $$hmax คือ ความสูงที่มากที่สุดที่ตัวปัมป์จะอยู่สูงจากผิวน้ำของแหล่งน้ำได้
Hb คือความดันบรรยากาศที่ผิวน้ำของแหล่งน้ำ ซึ่งจะขี้นอยู่กับความสูงของพื้นที่เทียบกับระดับน้ำทะเล
Hf คือ Head Loss ในสายดูด
NPSHoperating คือ ค่า NPSH ที่อ่านได้จากแผนภูมิ โดยควรอ่านที่อัตราไหลสูงสุดที่ต้องการใช้งาน
Hv คือ ความดันไอของน้ำ (water vapour pressure) (ดูค่าที่อุณภูมิต่างๆได้ที่ตารางล่างสุดในหน้าเวปนี้)
Hs คือ Safety factor ของ Head ซึ่งโดยปกติ จะตั้งที่ 0.5-1m เว้นแต่ในของเหลวมีก๊าซอยู่
ตัวอย่างที่ 4: การเลือกปัมป์และการคำนวณ hmax จาก NPSH
จากตัวอย่างที่ 3 ให้เลือกปัมป์จากแผนภูมิของปัมป์ที่แสดงด้านบนนี้ และให้คำนวณหาความสูงที่มากที่สุดที่ตัวปัมป์จะอยู่สูงจากผิวน้ำของแหล่งน้ำได้ โดยพื้นที่ที่ติดตั้งปัมป์อยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร และให้คิดว่าสายดูดมี Head loss ~0.5m
จากตัวอย่างที่ 3 เราได้คำนวณแล้วว่าปัมป์ต้องสามารถจ่ายน้ำได้ ที่ 20 m3/hr และ Head=36.1m ซึ่งจากข้อมูลในแผนภูมิ Q-H ของปัมป์ จะพบว่าที่ Q=20 m3/hr ปัมป์ 2CP40/180C จะสามารถให้ Head ที่ประมาณ 38 เมตร ซึ่งตรงกับที่เราต้องการ ส่วนปัมป์ 2CP40/180B จะให้ Head ที่ประมาณ 55 เมตร ซึ่งจะให้ Head ที่สูงเกินไป (อย่างไรก็ดี เราก็สามารถเลือกใช้ปัมป์ตัวนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่อาจต้องมีการหรี่วาล์วพอสมควร หรืออาจต้องมีการติดตั้ง pressure regulator ซึ่งทั้ง 2 วิธีจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน) จึงควรเลือกปัมป์ 2CP40/180C อย่างไรก็ดี หากมีตัวเลือกปัมป์มากกว่านี้ก็ควรที่จะเลือกปัมป์ให้อยู่ในช่วงที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ และมี safety factor มากกว่านี้ เพราะในระยะยาวปัมป์อาจมีการเสื่อมสภาพจากการสึกหรอและอาจทำให้ไม่สามารถทำ Head ได้ตามที่ต้องการ หรือ ผิวด้านในของท่อส่งอาจมีความหยาบมากขี้นเนื่องจากการเกิดตะกรัน เป็นต้น ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องเลือกปัมป์ตัวนี้ เราก็อาจออกแบบระบบเพื่อให้มี safety factor เพิ่มขี้น ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเลือกใช้ท่อ lateral ที่มีขนาดใหญ่ขี้นเช่น เป็นท่อขนาด 25mm/PN8 แทน ซึ่งจะทำให้ Head ที่ปัมป์ต้องทำลดลงเป็น 34.3m หรือเราอาจเลือกใช้ ตัวกรองน้ำที่ใหญ่ขี้น เพื่อให้ Head loss ที่ต้นทางลดลง เป็นต้น
เมื่อเราเลือกปัมป์ได้แล้ว เราก็สามารถคำนวณหาค่าความสูงที่มากที่สุดที่ตัวปัมป์จะอยู่สูงจากผิวน้ำของแหล่งน้ำได้ โดยเริ่มจากการอ่านค่า NPSH ที่จุดใช้งานก่อน ซึ่งจะได้ว่า NPSH=~3.7เมตร สำหรับปัมป์ 2CP40/180C ที่ 20m3/hr
ต่อไป เราต้องคำนวณหาความดันบรรยากาศ ซึ่งจะหาได้จาก (Source:--LINK--)
$$P_{atmospheric} = 101325 \times (1 - 2.25577 \times 10^{-5} Z_{abs})^{5.25588}$$ $$=101325 \times (1 - 2.25577 \times 10^{-5} 400)^{5.25588}=96611Pa$$หรือคิดเป็น Head ได้
$$H_b={96611/9792}=9.87m$$ส่วน ความดันไอ Hv สามารถหาได้จากตารางข้างล่าง สำหรับน้ำที่ 20°C จะได้เป็น 0.2337 bar หรือ =2.4m และถ้าเราคิด safty factor Hs ที่ 1m จะได้ว่า
$$h_{max} = H_b - H_f - NPSH - H_v -H_s $$ $$=9.87-0.5-3.7-2.4-1=2.27m$$ดังนั้นหากเลือกใช้ปัมป์ตัวนี้ เราอาจไม่สามารถวางปัมป์ที่ตำแหน่ง 3 เมตรสูงจากแหล่งน้ำตามในรูปตัวอย่างได้ แต่จำเป็นต้องเลื่อนตำแหน่งปัมป์ลงอยู่ที่ตำแหน่งใกล้ผิวน้ำไม่ให้เกินประมาณ 2.3 เมตรจากผิวน้ำ ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องคำนวณค่าอื่นๆใหม่เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่มีผลต่อ Head รวมในระบบ (มีผลเพียงเล็กน้อยสำหรับการคำนวณ fittings 10%)
ตารางแสดงค่าคุณสมบัติของน้ำที่อุณหภูมิต่างๆ
อุณหภูมิ (°C) | ความหนาแน่น (Kg/m3) |
ความดันไอ (bar) |
ความหนืดเชิงไดนามิค (10-3 Pa·s) |
---|---|---|---|
0 |
999.8 |
0.00611 |
1.787 |
5 |
1000 |
0.00872 |
1.519 |
10 |
999.7 |
0.01227 |
1.307 |
20 |
998.2 |
0.02337 |
1.002 |
30 |
995.7 |
0.04241 |
0.798 |
40 |
992.3 |
0.07375 |
0.653 |
50 |
988.0 |
0.12335 |
0.547 |
60 |
983.2 |
0.19920 |
0.467 |
70 |
977.7 |
0.3116 |
0.404 |
80 |
971.6 |
0.4736 |
0.355 |
90 |
965.2 |
0.7011 |
0.315 |
100 |
958.1 |
1.0133 |
0.282 |