เกษตรอินทรีย์
การเกษตรสมัยใหม่ที่พึ่งพาสารเคมีสังเคราะห์อย่างไม่เข้าใจ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จากรายงานสำรวจขององค์กรการอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2554 พบว่ามูลค่าการนำเข้ายาฆ่าแมลงของประเทศไทยอยู่ที่สองหมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงกว่าห้าพันล้านบาท(เพิ่มขี้นถึง 25%) นี่ยังไม่นับรวมไปถึงสารเคมีสังเคราะห์อาทิเช่นฮอร์โมนและปุ๋ยเคมี
ในด้านการใช้ปุ๋ยเคมี จากการศึกษาติดตามคุณภาพของดินหลังจากการใช้ปุ๋ยเคมี พบว่าคุณภาพทางกายภาพของดินแย่ลง และก่อให้เกิดความไม่สมดุลของแร่ธาตุในดิน ซึ่งจุดนี้ทำให้สามารถอธิบายได้ถึงความต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้นในทุกๆปีเช่นเดียวกัน
การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของสารเคมีสังเคราะห์ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่มีผลทางตรงกับผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยของอาหาร แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมซึ่งมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้เกิดความพยายามในการหาทางเลือกที่คำนึงถึงทั้งสุขภาพของผู้บริโภคและรักษาสมดุลธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักคือการรักษาสมดุลการผลิตและระบบนิเวศ
แนวทางปฎิบัติของเกษตรอินทรีย์ในการผลิต จะคำนึงถึง
1. สุขภาพดิน
การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยหมักและการปลูกพืชบำรุงดิน เป็นวิธีการในการรักษาสภาพโครงสร้างของดินและชดเชยแร่ธาตุในส่วนที่พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความสมดุลของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์
โครงสร้างของดินมีความสำคัญต่อความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าปุ๋ยเคมี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของดินและความเป็นกรดด่างของดิน ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของดิน และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของดินในระยะยาว
2. สุขภาพแหล่งน้ำ
การปนเปื้อนของปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงในแหล่งน้ำบนผิวดินและใต้ดินได้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพของแหล่งน้ำดี มีบทความทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ติดตามผลกระทบของการรั่วไหลของปุ๋ยเคมีสู่แหล่งน้ำ ซึ่งพบว่าแร่ธาตุในปุ๋ยเคมีได้ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายในแหล่งน้ำหลายๆแห่ง ส่งผลให้เกิดการใช้ออกซิเจนมากจนออกซิเจนพร่องไปอยู่ในระดับที่ถูกจัดเป็นน้ำเสียและมีผลต่อความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำ จุดที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะ คือการพบปริมาณปุ๋ยเคมีในระดับสูงในบริเวณปากแม่น้ำสู่ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ดังนั้นหากปัญหานี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ไม่เพียงจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำดีในอนาคต แต่จะทำให้แหล่งอาหารทางทะเลลดจำนวนลงด้วย
3. สุขภาพอากาศ
มีบทความงานวิจัยจำนวนมาก ที่อธิบายว่าทำไมเกษตรอินทรีย์จึงเป็นหนึ่งในวิธีการลดปริมาณคาร์บอนที่ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จัดเป็นหนึ่งในแก๊สเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในขณะนี้ บทความเหล่านี้ได้ให้เหตุผลว่าการนำเศษพืชซึ่งมีองค์ประกอบคาร์บอนที่อยู่ภายในโครงสร้างของพืชกลับไปทำปุ๋ย จะทำให้คาร์บอนส่วนใหญ่กลับลงไปสู่ดิน ไม่ได้อยู่ในรูปของแก๊สที่ถูกปลดปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตปุ๋ยเคมีจำเป็นต้องมีการใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งก็เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเช่นเดียวกัน
เหตุผลที่ผลิตผลเกษตรอินทรีย์มีราคาสูงเนื่องจาก
- กระบวนการจัดการของเกษตรอินทรีย์ต้องใช้แรงงานต่อหน่วยสูงกว่าการเกษตรสมัยใหม่
- การบริหารจัดการมีความซับซ้อนกว่า ทุกปีจะต้องมีการผ่านการตรวจรับรองจากหน่วยงานรับรองการผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะทำการตรวจเอกสารบันทึกปัจจัยการผลิต และตรวจสอบกระบวนการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อบังคับ
- ผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าเมื่อเทียบที่พื้นที่ขนาดเท่ากัน เนื่องจาก
- ต้องมีระยะเวลาพักบำรุงดิน พักตากดินก่อนการปลูก
- การปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งในรอบการปลูกแต่ละปี จะต้องมีการปลูกพืชบำรุงดิน โดยปกติจะใช้ระยะเวลาในการปลูกพืชบำรุงดินอยู่ที่ 2-3 เดือน
- การเจริญเติบโตของพืชเป็นไปตามอายุปกติ เนื่องจากไม่ได้มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต