หัวข้อความรู้

การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช


Note: The sources of images used in this section can be found in the last section below.

หลักการในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชแบบอินทรีย์ จะมุ่งไปที่การควบคุมปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการระบาด ซึ่งมีปัจจัยหลักๆดังนี้

  • ต้นพืชไม่แข็งแรง
  • มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การระบาด
  • มีแหล่งเชื้อโรคและแมลง

ดังนั้น การป้องกันและควบคุมสามารถทำได้โดย

  • ปรับปรุงดินให้ดี เพื่อให้ต้นพืชแข็งแรง
  • เลือกพันธุ์พืชที่แข็งแรง เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล
  • ปลูกพืชหลากหลาย หมุนเวียน ไม่ให้เกิดเป็นแหล่งโรคและแมลง
  • ดูแลแปลงและบริเวณโดยรอบให้สะอาด
  • ส่งเสริมและอนุรักษ์ให้เกินความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้มีศัตรูธรรมชาติ

โดยในทางปฎิบัตินั้น จะมีวิธีการในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้


วิธีกล (Mechanical Control)

คือการจัดการกับแมลงศัตรูพืชโดยตรง เช่น

  • การใช้มือจับแมลง
  • การใช้มุ้ง
  • การใช้กับดักแสงไฟ
  • การใช้กับดักกาวเหนียว
  • การคลุมดิน
  • การห่อผล
  • การวางกับดักเช่น เปลือกไข่ กระป๋อง

วิธีการเขตกรรม (Cultural Control)

คือการจัดการระบบการเพาะปลูกที่สร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น

  • การดูแลรักษาแปลงให้สะอาด
  • การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม
  • การปลูกพืชในฤดูกาลที่เหมาะสม
  • การไถพรวนทำลายศัตรูพืชในดิน
  • การจัดการระบบการให้น้ำ เช่น การให้น้ำล้างใบผักตอนเช้าเพื่อป้องกันราน้ำค้าง การให้น้ำฉีดพ่นยอดต้นพืชเพื่อควบคุมเพลี้ยไฟในหน้าแล้ง
  • การตัดแต่งกิ่งใบ เช่น การตัดแต่งกิ่งมะเขือเทศเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  • การจัดการระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชกีดขวางเพื่อไล่แมลง การปลูกพืชร่วมเพื่อไล่แมลงและป้องกันโรค การปลูกพืชล่อแมลงออกจากพืชหลัก และการปลูกดอกไม้รอบๆแปลงเพื่อล่อแมลงศัตรูธรรมชาติ

วิธีทางชีวภาพ (Biological Control)

เป็นวิธีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยสิ่งมีชีวิต สำหรับการป้องกันเชื้อโรคพืชโดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็จัดเป็นวิธีการทางชีวภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งกล่าวในรายละเอียดไว้ในหัวข้อ "ปุ๋ยชีวภาพและเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์" ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงวิธีทางชีวภาพเพื่อป้องกันและควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่นี้ เราจะเรียกว่าศัตรูธรรมชาติ (Natural Enemies) โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 จำพวกหลักๆ คือ

1. ตัวห้ำ (Predator)

คือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยการกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร เช่น นก งู จิ้งจก กิ้งก่า กบ เขียด คางคก แมงมุม ไรตัวห้ำ และแมลงศัตรูธรรมชาติต่างๆ โดยตารางข้างล่างเป็นตัวอย่างแมลงและแมงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญบางชนิด

ตารางแสดงแมลงและแมงตัวห้ำบางชนิด

ชื่อ รูป ระยะที่เป็น
ตัวห้ำ
แมลงศัตรูพืชเป้าหมาย
จิ้งหรีดตัวห้ำหรือจิ้งหรีดหนวดยาว
(Silent Leaf Runner)
silent leaf runner ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ไข่แมลง หนอนขนาดเล็ก เพลี้ยจักจั่น
ด้วงเต่าลาย
(Lady Beetle)
lady beetle ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เพลี้ยไก่ฟ้า เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรศัตรูพืช แมลงหวี่ขาว
ต่อ
(Hornet)
hornet ตัวเต็มวัย หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอ หนอนม้วนใบ หนอนคืบต่างๆ ตั๊กแตน จิ้งหรีด เพลี้ยและมวน
ตั๊กแตนตำข้่าว
(Mantis)
mantis ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เพลี้ยอ่อน ตั๊กแตน ผีเสื้อ
มวนพิฆาต
(Predatory Stink Bug)
predatory stink bug ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย หนอนต่างๆเช่น หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนชอนใบ หนอนบุ้งร่าน
มวนเพชฌฆาต
(Assasin Bug)
assasin bug ตัวเต็มวัย หนอนกระทู้ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนผืเสื้อข้าวสาร มวนเขียว เพลี้ยจักจั่่น
แมลงช้างปีกใส
(Green Lacewings)
green lacewings ตัวอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรแดง หนอนชอนใบส้ม ไข่ผีเสื้อกลางคืน หนอนผีเสื้อขนาดเล็กต่างๆ
แมลงปอ
(Dragonflies)
dragonflies ตัวเต็มวัย เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น ผีเสื้อหนอนห่อใบ
แมลงวันขายาว
(Long-Legged Fly)
long-legged fly ตัวเต็มวัย แมลงขนาดเล็ก เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยจักจั่่น
แมลงวันดอกไม้
(Hover Fly)
hover fly ตัวอ่อน เพลี้ยอ่อนและแมลงตัวเล็ก
แมลงหางหนีบ
(Earwigs)
earwigs ตัวเต็มวัย ไข่แมลง หนอน หรือ ตัวอ่อนของแมลงขนาดเล็ก
แมงมุม
(Spider)
spider ตัวเต็มวัย แมลงต่างๆ
ไรตัวห้ำ
(Predatory Mites)
predatory mites ตัวเต็มวัย ไรศัตรูพืช เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน

2. ตัวเบียน (Parasite)

หรือ แมลงเบียน (Parasitic Insects) เป็นแมลงที่มีช่วงไข่หรือในวัยตัวอ่อน อาศัยเป็นปรสิตของแมลงศัตรูพืช โดยส่งผลให้แมลงศัตรูพืชตายในระหว่างที่ตัวเบียนเจริญเติบโต แมลงเบียนมีอยู่มากมายหลากหลายชนิดในธรรมชาติ แต่มักอ่อนแอต่อสารเคมี ตัวอย่างของแมลงเบียนที่สำคัญได้แก่

  • แตนเบียนไตรโครแรมมา ซึ่งสามารถทำลายไข่ของศัตรูพืชได้หลายชนิดเช่น ไข่หนอนเจาะสมอฝ้าย ไข่หนอนกออ้อย ไข่หนอนแก้วส้ม ไข่หนอนคืบละหุ่ง ไข่หนอนใยผัก แตนเบียนเป็นต้น
  • แตนเบียนหนอนชนิด Cotesia sp. เข้าทำลายหนอนกระทู้ผัก
  • แตนเบียนไข่ เข้าทำลายไข่หนอนใยผัก
  • แตนเบียนมวนลำไย
  • แตนเบียนหนอนชอนใบส้ม
  • แตนเบียนเพลี้ยไก่แจ้
  • แตนเบียนหนอนกออ้อย
  • แตนเบียนแมลงวันผลไม้

3. เชื้อปฎิปักษ์ (Antagonistic Microorganism)

คือเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโรคของแมลงศัตรูพืช เช่น

  • เชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) ควบคุม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ
  • แบคทีเรีย เช่น เชื้อ BT (Bacillus thuringiensis) ควบคุม หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบกระหล่ำ หนอนส้มแก้ว
  • เชื้อรา เช่น เชื้อราเขียว (Metarhizium Anisopliae) ควบคุมหนอนด้วงแรดมะพร้าว หนอนด้วงหนวดยาว ตั๊กแตนปาทังก้า มวน แมลงเจาะผลกาแฟ แมลงสาบ ปลวก แมลงศัตรูอ้อย ด้วงงวง
  • ไส้เดือนฝอย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก จนมีการจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง แต่ยังพอมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิดเช่น หนอนกินใต้ผิวเปลือก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอกล้วย ด้วงหมัดผัก ด้วงงวงมันเทศ แมลงวันผลไม้ ปลวก อย่างไรก็ดี ไส้เดือนฝอยเองก็จัดเป็นศัตรูพืชเช่นเดียวกัน เพราะสามารถเข้าทำลายรากพืช โดยจะดูดน้ำเลี้ยงและทำลายระบบราก เกิดเป็นอาการรากปม รากเป็นแผล หรือบิดเบี้ยว จึงควรมีความระมัดระวังในการใช้ไส้เดือนฝอยเป็นศัตรูธรรมชาติ

การใช้สมุนไพร (Herbal Insecticide)

พืชสมุนไพรมีหลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ในการใช้ป้องกันและควบคุมแมลงศัตรูพืช อีกทั้งบางชนิดยังสามารถช่วยในการควบคุมโรคพืชได้อีกด้วย ซึ่งในที่นี้ ได้รวบรวมพืชสมุนไพรบางส่วนพร้อม สรรพคุณ และวิธีใช้ ไว้ที่ท้ายหน้าเวปนี้ (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก ที่นี่) อย่างไรก็ดี ในการใช้พืชสมุนไพร ควรมีความระมัดระวังในปริมาณที่ใช้ เพราะอาจส่งผลเสียให้แก่พืชที่ปลูกได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้พืชสมุนไพรที่เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับพืชหลัก เพราะอาจทำให้พืชหลักติดโรคได้

เพื่อช่วยในการระบุชนิดของแมลงศัตรูพืช ในที่นี้ได้รวบรวมรูปภาพและข้อมูลคร่าวๆเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชที่สำคัญไว้ในตารางข้างล่างนี้ และเนื่องด้วยมีการระบุในตารางเป็นพืชตระกูลต่างๆที่เป็นเป้าหมายของแมลง จึงได้แสดงรายชื่อผักที่สำคัญของพืชแต่ละตระกูล ณ.ที่นี้

  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแค ดอกแค ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วพลู ถั่วปากอ้า
  • พืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน บวบ มะระ ฟักแม้ว ฟักเขียว แฟง ตำลึง ฟักทอง แตงโม แคนตาลูป น้ำเต้า
  • พืชตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือม่วง มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ ยาสูบ มะเขือพวง พริก มะแว้ง
  • พืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ลาน สาคู หมากเขียว หมากเหลือง หมากแดง
  • พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น ผักกาดขาว คะน้า บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กวางตุ้ง ผักกาดหัว(หัวไชเท้า) สลัดร็อกเกต
  • พืชตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว
  • พืชตระกูลฝ้ายหรือชบา เช่น ฝ้าย กระเจี๊ยบ

แมลงศัตรูพืชจำพวกด้วง

ชื่อ รูปภาพ พืชเป้าหมาย ลักษณะการเข้าทำลาย
ด้วงกุหลาบ
(Rose Beetle)
rose beetle กุหลาบ พืชผักทั่วไป เกาะอยู่ใต้ใบกัดกินใบ เกิดเป็นรอยพรุนบนแผ่นใบ
ด้วงเจาะเมล็ดถั่วหรือด้วงถั่วเขียว
(Cowpea Weevil)
cowpea weevil พืชตระกูลถั่ว ตัวเต็มวัยวางไข่ติดผิวเมล็ดถั่ว เข้าทำลายฝักถั่วในระยะที่ถั่วเริ่มโตเต็มที่
ด้วงเต่าแตงแดง
(Cucurbit Beetle)
cucurbit beetle ตระกูลแตง ตระกูลมะเขือ หนอนอาศัยอยู่ในดิน กินรากพืชตระกูลแตง ตัวเต็มวัยกินใบ ลักษณะการกินเป็นรูปทรงกลม
ด้วงเต่ามะเขือ
(28-Spotted Ladybird Beetle)
28spotted_beetle ตระกูลมะเขือ ตระกูลแตง หนอนกับตัวเต็มวัยกัดกินใบ เห็นเป็นใบโปร่งใส
ด้วงแรดมะพร้าว
(Coconut Rhinoceros Beetle)
coconut rhinoceros beetle ตระกูลปาล์ม ตัวเต็มวัยกัดเจาะโคนทางใบปาล์ม ทำให้ทางใบหักง่าย และกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่
ด้วงงวงมะพร้าวหรือด้วงสาคู
(Red Palm Weevil)
red palm weevil ตระกูลปาล์ม  หนอนจะอาศัยและกัดกินบริเวณส่วนอ่อน คือยอดอ่อนและคอต้น ทำให้ใบแคระแกร็น ตัวเต็มวัยจะกัดกินและวางไข่ ที่ส่วนอ่อนบริเวณคอต้น เพื่อขยายพันธุ์อยู่ภายในจนเป็นโพรง ทำให้เกิดการเน่า ใบเหี่ยวแห้งและตายในที่สุด
แมลงดำหนามมะพร้าว
(Coconut Leaf Beetle)
coconut leaf beetle ตระกูลปาล์ม ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อน โดยซ่อนตัวอยู่ในใบอ่อนที่ี่ยังไม่คลี่ ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และหากการทำลายรุนแรงทั่วทั้งยอด จะมองเห็นเป็นกลุ่มใบสีขาวโพลน
ด้วงหมัดผัก
(Flea Beetle)
flea beetle ตระกูลกะหล่ำ หนอนอาศัยอยู่ในดิน กัดกินหรือชอนไชบริเวณโคนต้นหรือราก ตัวเต็มวัยกัดกินผิวด้านล่างของใบ ทำให้ใบมีรูพรุน และอาจกัดกินผิวลำต้นและกลีบดอก
มอดข้าวสารหรือด้วงงวงข้าว
(Rice Weevil)
rice weevil เมล็ดธัญพืชทุกชนิด คือ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และเมล็ดพืชชนิดต่างๆ แต่ไม่ทำลายแป้ง เนื้อเมล็ดจะถูกตัวอ่อนกัดกินอยู่ภายใน เมล็ดที่ถูกทำลายจะเป็นรูและข้างในเป็นโพรง
แมลงค่อมทอง
(Golddust Weevil)
golddust weevil มะเขือ หน่อไม้ฝรั่ง มันเทศ ผลไม้ตระกูลส้ม หนอนอาศัยอยู่ในดิน กินราก ตัวเต็มวัยกินใบ

แมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนผีเสื้อ

ชื่อ รูป พืชเป้าหมาย ลักษณะการเข้าทำลาย
หนอนกอ
(Rice Stem Borers)
rice stem borers ข้าว ข้าวโพด อ้อย หนอนฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือน้ำตาล เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น
หนอนเจาะสมอฝ้าย
(Tobacco Budworm)
tobacco budworm มะเขือเทศ ยาสูบ ข้าวโพด ฝ้าย หนอนกัดกินใบและเข้าทำลายผล
หนอนเจาะผลมะเขือ
(Eggplant Boring Caterpillar)
eggplant boring caterpillar ตระกูลมะเขือ (โดยเฉพาะ มะเขือเปราะ) ยกเว้นมะเขือเทศ หนอนทำลายยอดมะเขือทำให้ยอดเหี่ยวเวลาแดดจัด จะพบรูเจาะอยู่ไม่เกิน 10 ซม.จากยอด นอกจากนี้ยังเข้าเจาะผลด้วย การทำลายยอดสูงในฤดูฝน การทำลายผลสูงในฤดูแล้ง
หนอนผีเสื้อกะโหลก
(Hornworm)
hornworm ตระกูลมะเขือและพืชผักอื่นๆ หนอนกัดกินใบ
หนอนกระทู้ผัก
(Tropical Armyworm)
tropical armyworm ตระกูลมะเขือ ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลถั่ว และพืชผักอื่นๆ หนอนทำลายได้ทุกส่วน: ยอด ใบ ก้าน ดอก และหัว
หนอนกระทู้หอมหรือหนอนหลอดหอม
(Beet Armyworm)
beet armyworm พืขผักต่างๆ หนอนกัดกินใบ
หนอนใยผัก
(Diamondback Moth)
diamondback moth ตระกูลกะหล่ำ หนอนกัดกินเยื่อใบ ใต้ใบและผิวใบทำให้เกิดรูโหว่ ระบาดหน้าหนาวถึงหน้าแล้ง
หนอนเจาะยอดกะหล่ำ
(Cabbage Caterpillar)
cabbage caterpillar ตระกูลกะหล่ำ หนอนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกัดกินใบโดยเฉพาะกะหล่ำปลี
หนอนผีเสื้อปีกขาวลายจุด
(Cabbage Worm)
cabbage worm ตระกูลกะหล่ำ หนอนกัดกินใบทำให้เกิดรูโหว่
หนอนคืบข้าวโพด
(Green Looper)
green looper ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลมะเขือ ตระกูลถั่ว และพืชผักอื่นๆ หนอนกัดกินใบ และเข้ากินหัวกะหล่ำด้วย
หนอนคืบกินใบ
(Geometrid)
geometrid พืขผักต่างๆ หนอนกัดกินใบ
หนอนม้วนใบฝ้าย
(Cotton Caterpillar)
cotton caterpillar ตระกูลแตงและตระกูลฝ้าย หนอนกัดกินใบอ่อน เมื่อโตจึงม้วนใบ บางครั้งเข้ากินผลด้วย
หนอนม้วนใบถั่ว
(Soybean Leaf Folder)
soybean leaf folder ตระกูลถั่ว หนอนม้วนใบเข้าด้วยกันและกินใบจากข้างใน เห็นเป็นใบโปร่งใส
หนอนเจาะฝักถั่ว
(Legume Podborer)
legume podborer ตระกูลถั่ว หนอนกัดกินใบ ดอกตูม ฝักหรือลำต้นอ่อน
หนอนผีเสื้อสีน้ำตาล
(Bean Lycaenid)
bean lycaenid ตระกูลถั่ว หนอนกัดกินฝัก
หนอนหงอนมันเทศ
(Sweet Potato Hornworm)
sweet potato hornworm มันเทศ พืชตระกูลถั่ว หนอนกัดกินใบ

แมลงศัตรูพืชจำพวกมวนและเพลี้ย

ชื่อ รูป พืชเป้าหมาย ลักษณะการเข้าทำลาย
มวนเขียวข้าว
(Green Stink Bug)
green stink bug ผักต่างๆ โดยเฉพาะถั่วฝักยาวและมะเขือ เจาะดูดกินฝักและเมล็ดด้วยปากแทงดูด
มวนแดงฝ้าย
(Cotton Stainer)
cotton stainer ตระกูลฝ้าย เจาะดูดกินฝักและเมล็ด ทำให้ฝักไหม้ แห้ง
มวนเขียวถั่ว
(Legume Shield Bug)
legume shield bug ตระกูลถั่ว กินฝัก
มวนถั่วเหลือง
(Soybean Pod Bug)
soybean pod bug ตระกูลถั่ว เจาะดูดกินฝัก
มวนผัก
(Spined Legume Bug)
spined legume bug พืชผักต่างๆ ชอบกินฝักของพืชตระกูลถั่ว
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
(Brown Planthopper)
brown plant ข้าว ดูดกินนำเลี้ยงบริเวณโคนต้นระดับเหนือผิวน้ำของข้าว ทำให้ต้นข้าวใบเหลืองแห้งคล้ายน้ำร้อนลวก พาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก
เพลี้ยจักจั่น
(Green Jassid)
green jassid พืชผักต่างๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเป็นจุดสีขาว เหลือง หรือแดง ถ้าอาการหนัก ใบจะหยิก เหี่ยวและร่วง
เพลี้ยแป้ง
(Mealybug)
mealybug พืชผักต่างๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ใบ ช่อดอก ผล มีมดเป็นพาหะ มูลเป็นอาหารราดำ
เพลี้ยอ่อน
(Aphids)
aphids พืชผักต่างๆ ดูดกินนำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของพืช มูลเป็นอาหารราดำ เป็นพาหะนำโรคไวรัสหลายชนิด
เพลี้ยไฟ
(Thrips)
thrips ตระกูลแตง ตระกูลมะเขือ ตระกูลกะหล่ำ และพืชผักอื่นๆ ดูดน้ำเลี้ยงผิวใบหรือผล เป็นพาหะไวรัส Tomato Spotted Wilt Virus (TSWV)
แมลงหวี่ขาว
(Silver Leaf Whitefly)
silver leaf มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก กระเจี๊ยบเขียว ฝ้าย ยาสูบ และถั่วต่างๆ ดูดกินนำเลี้ยงจากใต้ใบพืช มูลเป็นอาหารราดำ เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส Tomato Yellow Leaf Curl่ Virus ของมะเขือเทศ

แมลงศัตรูพืชจำพวกอื่นๆ

ชื่อ รูป พืชเป้าหมาย ลักษณะการเข้าทำลาย
แมงกะชอน
(Mole Cricket)
mole cricket ตระกูลมะเขือ ตระกูลกะหล่ำ และพืชผักอื่นๆ ทำลายรากหรือลำต้นในดินที่มีความชื้นสูง
แมลงวันเจาะต้นถั่ว
(Bean Fly)
bean fly ตระกูลถั่ว หนอนอยู่ข้างในลำต้นและกินเนื้อเยื่อลำต้น
แมลงวันแตง
(Melon Fly)
melon fly ตระกูลแตง หนอนกัดกินผล และลำต้นของพืชตระกูลแตง
แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทอง
(Fruit Fly)
fruit fly ผลไม้ ตระกูลมะเขือ ตัวโตเต็มวัยวางไข่แทงเข้าไปในผล ตัวหนอนที่ฟักจากไข่อาศัยชอนไชอยู่ในผล
หนอนชอนใบมะเขือเทศ
(Tomato Leaf Miner)
tomato leaf miner พืชผักต่างๆ หนอนอยู่ข้างในใบ กินเนื้อเยื่อใบให้เห็นเป็นทาง
สมุนไพร โรคหรือแมลง
เป้าหมาย
ลักษณะการควบคุม วิธืการใช้
กระเทียม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้ผัก ด้วงปีกแข็ง โรคราน้ำค้าง โรคราสนิม มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง สารขับไล่แมลง สารหยุดยั้งการดูดกินอาหาร สารฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย
  • ใช้กระเทียม 1 กำมือ โขลกให้ละเอียด เติมน้ำร้อนครึ่งลิตร แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำ 4 ลิตร เติมสบู่ครึ่งช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ในตอนเช้า
  • บดกระเทียม 2 หัวใหญ่และพริกแห่งป่น 2 ช้อนชา ให้ละเอียดแล้วนำไปใส่น้ำร้อน 4 ลิตร เติมสบู่ลงไปเล็กน้อย คนแล้วกรองนำไปใช้ สูตรนี้ใช้ได้ผลดีกับหนอนผีเสื้อไม้ผล
  • ใช้กระเทียมแกะกลีบ 1 กำมือ ตากแดดให้แห้งเพื่อนำไปโขลกให้เป็นผง ใช้โรยบนพืชผักที่มีปัญหา โดยโรยตอนพืชผักไม่เปียก
ขมิ้นชัน หนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอด ไรแดง เหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ขับไล่และกำจัดแมลงได้หลายชนิด
  • ขมิ้นครึ่งกก. ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำ 1 ปีบ หมักทิ้งไว้ 1 - 2 วัน กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง
  • ตำขมิ้นให้ละเอียด ผสมกับว่านน้ำตำละเอียด อัตราส่วน 1 ต่อ 2 กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง ถ้าจะใช้กำจัดหนอนให้เติมน้ำผสมลงไปอีก 6 เท่า
  • บดขมิ้นให้เป็นผง ผสมเมล็ดถั่วในอัตรา ขมิ้น 1 กก. ต่อเมล็ดถั่ว 50 กก. เพื่อช่วยในการเก็บรักษาเมล็ดถั่วป้องกันไม่ให้แมลงมาทำลายเม็ดถั่ว
ขี้เหล็ก ด้วงถั่วเขียว ป้องกันและกำจัดแมลงในโรงเก็บ สามารถป้องกันและกำจัดแมลงในโรงเก็บได้จำพวกแมลงปีกแข็ง ด้วง ต่างๆ
  • นำใบอ่อน 1 ขีด บดให้ละเอียดแล้วคลุกเมล็ดถั่วเขียวจำนวน 1 กก.
ข่า แมลงวันทอง น้ำคั้นจากเหง้า มีสารดึงดูด สารไล่แมลง สารฆ่าแมลง สามารถไล่แมลงวันทองไม่ให้วางไข่ได้ 99.21 % และทำให้โรคใบจุดสีน้ำตาลในนาข้าง หายไป
  • นำเหง้าแก่สดหรือแห้ง มาบดเป็นผงละเอียด แล้วแช่น้ำพอท่วมค้างไว้  1  คืน  กรองด้วยผ้าขาวบาง นำไปฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงวันทองไม่ให้มาวางไข่
ขิง แมลงวันทอง  
  • นำเหง้าขิงแก่มาทุบ หรือบดให้ละเอียด แล้วนำไปแช่น้ำ 1 ลิตร ค้างไว้ 1 คืน นำน้ำที่ได้จากการกรองเอากากออก ผสมกับน้ำสะอาดอีกครึ่งปี๊บ นำไปฉีดพ่นแปลงผักผลไม้
คูน หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม มอดแป้ง ด้วง เนื้อฝักคูนจะมีสารประเภท Anthraquinones หลายตัวเช่น Aloin, Rhein Sennoside A, B และยังมี Organic acid สาร Anthraquinone มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง
  • นำฝักคูนมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 3 - 4 วัน นำมากรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่นกำจัดแมลง
ดาวเรือง เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว แมลงวันผลไม้ หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อกะโหลก หนอนกะหล่ำปลี ด้วงปีกแข็ง ไส้เดือนฝอย โดยทั่วไปมักจะปลูกดาวเรืองแซมตามแปลงผัก เพราะดอกและใบมีกลิ่นฉุน แมลงจึงไม่อยากเข้าไกล้
  • นำดอกมาคั้นเอาน้ำ 1 ส่วน นำมาผสมน้ำ 3 ส่วน สามารถกำจัดหนอนใยผักได้ดี
  • นำดอกมาคั้นเอาน้ำ 1 ส่วน นำมาผสมน้ำ 1 ส่วน สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้ผลดี
  • นำดอก 500 กรัม ต้มในน้ำ 4 ลิตร ทิ้งไว้ให้เย็น กรองเอาแต่น้ำ ไปผสมน้ำเปล่าอีก 4 ลิตร น้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 2 วัน
ดีปลี แมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ  
  • นำดีปลีไปอบในอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส จำนวน 450 กรัม แล้วนำไปบดให้ละเอียด แช่ในแอลกอฮอล์ 1.5 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่น
ตะไคร้หอม หนอนกระทู้ หนอนใยผัก ไล่ยุง แมลง แมลงสาบ มีสาร Verbena oil, Lemon oil, Indian melissa oil มีฤทธิ์ในการไล่แมลง
  • นำตะไคร้หอมทั้งต้น มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ บดหรือตำให้ละเอียด ประมาณ 400 กรัม นำมาผสมกับน้ำ 8 ลิตร หมักทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่น สูตรสำหรับไล่แมลงและยุง
น้อยหน่า ตั๊กแตน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยหอย ด้วงเต่า หนอนใยผัก มวน ด้วงเต่าทอง แมลงวันทอง มีพิษต่อแมลงทางสัมผัสและทางกระเพาะอาหาร
  • นำเมล็ดน้อยหน่าแห้ง 1 กก. ตำให้ละเอียด ผสมน้ำ 10 ลิตร หมักไว้นาน 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นทุก 6 - 10 วัน ช่วงเวลาเย็น
  • ใช้ใบสด 2 กก. ตำให้ละเอียด ผสมน้ำ 10 ลิตร หมักนาน 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นทุก 6 - 10 วัน ช่วงเวลาเย็น
บอระเพ็ด เพลี้ยกระโดดน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น หนอนกอ โรคข้าวตายพราย โรคยอดเหี่ยว โรคข้าวลีบ ใช้ได้ดีกับนาข้าว รสขมเมื่อถูกดูดซึมเข้าไปในพืชจะทำให้แมลงไม่ชอบ
  • ใช้เถาหนัก 5 กก. สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทุบให้แหลก แช่ในน้ำ 12 ลิตร นาน 1 - 2 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่นในแปลงเพาะกล้า
  • ใช้เถา 1 กก. สับหว่านลงไปในแปลงเพาะกล้าขนาด 4 ตารางเมตร
  • ใช้เถาตัดเป็นท่อน ๆ ขนาด 5 - 10 นิ้ว ปริมาณ 10 กก. หว่านในนาข้าวพื้นที่ 1 ไร่ หลังปักดำหรือหว่านข้าวแล้ว 7 วัน ควรทำอีกครั้งหลังข้าวอายุ 2 เดือน ใช้ควบคุมหนอนกอ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ประทัดจีน เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อ หนอนชอนใบ หนอนแตงเทศ ไร ด้วงเต่า เป็นพิษทางสัมผัสและทางกระเพาะและมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง ฆ่าตัวอ่อน ซึ่งในลำต้นจะมีสารฆ่าแมลงมาก ส่วนในราก ใบและเปลือก ก็มีสารคลาสซิน (Quassin) แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า
  • ใช้ประทัดจีนชิ้นเล็ก ๆ 30 กรัม น้ำ 1/4 ลิตร สบู่เหลว 30 กรัม ต้มชิ้นประทัดจีนในน้ำเดือด นาน 30 นาที แล้วกรอง เติมสบู่เหลวลงไปในน้ำกรอง แล้วเจือจางด้วยน้ำ 3 เท่าก่อนใช้
  • ใช้ชิ้นประทัดจีน 500 กรัม น้ำ 20 ลิตร แช่ส่วนผสมทั้งหมดรวมกันทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง กรองแล้วเติมน้ำอีก 20 ลิตร สารละลายที่เตรียมไว้มีผลต่อแมลงดูดกินน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนและมดดำ
  • ต้มชิ้นประทัดจีน 500 กรัม ในน้ำ 10 ลิตร ให้เดือดชั่วครู่ แล้วตั้งทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรองกากทิ้ง ละลายสบู่ 2 กก. กับน้ำ 3 ลิตร เติมลงไปในน้ำต้มประทัดจีนที่กรองแล้ว จากนั้นเติมน้ำให้ปริมาตรครบ 100 ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่น
ผกากรอง หนอนกระทู้ผัก เมล็ดมีสาร Lantadene มีผลต่อระบบประสาทของแมลง
  • บดเมล็ด 1 กก. ผสมกับน้ำ 2 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ นำไปฉีดพ่นกำจัดแมลงไม่ให้มาวางไข่ในแปลงผัก
  • ใช้ดอกและใบบดละเอียด หนัก 50 กรัม ผสมน้ำ 400 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำ นำมาผสมน้ำ 1 : 5 ส่วน ใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลง
พริก**,*** มด เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อกะหล่ำ โรคใบด่าง ไวรัสโรคใบหด ด้วง แมลงในโรงเก็บ ผลสุกมีคุณสมบัติในการฆ่าแมลง เมล็ดมีสารฆ่าเชื้อรา ใบและดอกมีสารยับยั้งการขยายตัวของไวรัส
  • นำพริกแห้งป่นละเอียด 100 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืนกรองเอาแต่น้ำ นำมาผสมน้ำสบู่ 1 : 5 ส่วน ใช้ฉีดพ่น ทุก 7 วัน ควรทดลองแต่น้อย ๆ ก่อน และให้ใช้อย่างระมัดระวังเพราะอาจระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ใช้
  • นำใบและดอกของพริกมาคั้นผสมน้ำไปฉีดพ่น เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส โดยฉีดก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส
พริกไทย มด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไพ หนอนผีเสื้อ ด้วงปีกแข็ง หนอนกะหล่ำปลี ด้วงในข้าวไวรัส มีน้ำมันหอมระเหยและอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท
  • ใช้เมล็ด 100 กรัม บดละเอียด ผสมน้ำ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ นำมาผสมแชมพูซันไลต์ 1 หยด ใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลง ทุก ๆ 7 วัน
ไพล เชื้อรา ใช้ยับยั้งการเติบโตของเชื้อราในข้าวบาร์เลย์
  • บดไพลแห้งให้ละเอียด แล้วละลายในแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วนร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก แล้วนำไปฉีดพ่น
มะรุม เชื้อรา แบคทีเรีย โรคเน่า ในใบจะมีสารพวกผลึกของอัลคาลอยด์ ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pythium debangemum กำจัดเชื้อราและแบคทีเรีย ได้แก่ โรคโคนต้น และผลเน่าของตระกูลแตง โรคผลเน่าใกล้พื้นดินของมะเขือเทศ โรคเน่าคอดินของคะน้า โรคแง่งขิงเน่า
  • นำใบมะรุมรูดเอาแต่ใบมาคลุกเคล้ากับดินที่เตรียมไว้สำหรับเพาะกล้าหรือปลูกพืชผัก ทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ เพื่อให้ใบมะรุมย่อยสลายไปกับดิน สารที่อยู่ในใบของมะรุมจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดี
มะละกอ โรคราสนิม โรคราแป้ง ใบของมะละกอ มีสารออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา เช่น โรคราสนิม โรคราแป้ง
  • นำใบมะละกอมาหั่นประมาณ 1 กก. แล้วนำไปผสมกับน้ำ 1 ลิตร จากนั้นให้คั้นเอาน้ำและกรองโดยใช้ผ้าขาวบาง แล้วเติมน้ำ 4 ลิตร เติมสบู่ลงไปประมาณ 16 กรัม ละลายให้เข้ากัน แล้วนำไปฉีดพ่น
มันแกว เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ หนอนกะหล่ำ หนอนใยผัก ด้วงหมัดกระโดด มวนเขียว หนอนผีเสื้อ แมลงวัน เมล็ดแก่มีสาร Pachyrrhrgin เป็นพิษต่อแมลงทางสัมผัสและทางกระเพาะอาหาร
  • นำเมล็ดมาบดให้เป็นผง ประมาณ 0.5 กก. ละลายในน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 - 2 วัน ใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงวัน
  • ใช้เมล็ดมันแกว 2 กก. บดให้ละเอียด ละลายกับน้ำ 400 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 วัน กรองเอาแต่น้ำ ใช้ฉีดพ่นกำจัดเพลี้ยและหนอนๆ
ยาสูบ*** โรครา ด้วงต่างๆ หนอนกอ หนอนชอนในใบหรือชอนใบ หนอนผีเสื้อ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ และไรต่างๆ  
  • ใช้ยาสูบ 1 กก. ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำแล้วเติมลงไปอีก 60 ลิตร ฉีดพ่นอย่าให้ละอองยาถูกตัว ฉีดพ่นแล้ว 3-4 วัน จึงสามารถเก็บไปบริโภคได้
ยี่โถ มด แมลงผลไม้ หนอน เปลือกและเมล็ดจะมีสาร Glycoside, Neriodorin ซึ่งมีฤทธิ์ในการกำจัดแมลง
  • ใช้ดอกและใบมาบดให้ละเอียด นำมาผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 หมักทิ้งไว้ 2 วัน นำมากรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่นกำจัดแมลง
  • ใช้ใบและเปลือกไม้ ไปแช่น้ำนาน 30 นาที นำมากรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง
ยูคาลิปตัส หนอน แมลงวัน  
  • นำใบยูคาลิปตัสมาบดให้ละเอียด และหมักกับน้ำ ในสัดส่วน ใบยูคาลิปตัส 2 กก. ต่อน้ำ10ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน กรองเอาสารละลายไปฉีดพ่น หรือเทราดบริเวณที่มีหนอน แมลงวัน
ละหุ่ง ปลวก แมงกะชอน ไส้เดือนฝอย หนู มีประสิทธิภาพในการป้องกันศัตรูพืช เช่น แมลงกะชอน หนู ปลวก ไส้เดือนฝอย
  • เพียงแค่ปลูกละหุ่งเป็นแนวรอบสวนก็สามารถป้องกันหรือขับไล่ศัตรูพืช เช่น แมงกะชอน หนู ปลวกและไส้เดือนฝอย หรือปลูกหมุนเวียนในไร่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอย
ลางสาด หนอนหลอดหอม เมล็ดมีสาร Acid Alkaloid :ซึ่งเป็นพิษกับแมลงและหนอน
  • นำเมล็ด ครึ่งกก. บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ไปฉีดพ่นกำจัดแมลง
เลี่ยน หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะผลโกโก้ ด้วงงวง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ไรแดงส้ม เพลี้ยอ่อนกระหล่ำ หนอนผีเสื้อกะหล่ำ เปลือกของต้น ใบ ผล เมล็ด มีสารที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง ขับไล่แมลง ยับยั้งการดูดกิน การเจริญเติบโต ของแมลง
  • นำใบเลี่ยนสด 150 กรัม หรือใบแห้ง 50 กรัม นำมาแช่น้ำ 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง
ว่านน้ำ ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก แมลงวันทอง แมลงในโรงเก็บ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอดตัวป้อม มอดข้างเปลือก เหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหย ชนิด Calamol aldehyde มีพิษต่อระบบประสาทของแมลง
  • นำเหง้ามาบดเป็นผง 30 กรัม ผสมกับน้ำ 4 ลิตร หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง รือต้มนาน 45 นาที นำมาผสมน้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ นำไปฉีดพ่น 2 วัน ๆ ละ 1 ครั้ง
สลอด เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ผัก หนอนไหม แมลงวันทอง แมลงวัน หอยทาก ในเมล็ดจะมีสาร Corton oil ซึ่งเป็นสารสำคัญมีฤทธิ์ต่อการกำจัดแมลง
  • นำเมล็ดสลอดบดให้ละเอียด ผสมน้ำเปล่าในอัตราส่วน สลอด 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน หมักทิ้งนาน 3 วัน นำมากรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่นกำจัดแมลง
สะเดา ตั๊กแตน ด้วงหมัดผัก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั๊กจั่น แมลงหวี่ขาว หนอนกระทู้ หนอนใยกะหล่ำ หนอนใยผัก หนอนกอ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนชอนใบ แมลงในโรงเก็บ สารสกัดจากสะเดาที่มีเมล็ดในใบ มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง ขับไล่แมลง ต่อต้านการดูดกิน ยับยั้งการเจริญเติบโต ป้องกันและกำจัดแมลงได้หลายชนิด
  • โรยเมล็ดสะเดาบดตามแปลงผักเพื่อปรับสภาพดิน
  • นำเมล็ดสะเดากระเทาะเปลือก 1 กก. บดให้ละเอียดห่อผ้าแช่น้ำ 20 ลิตร 1 คืน นำไปฉีดพ่นตามแปลงพืชผัก ก่อนนำไปใช้อาจผสมสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ เป้นสารจับใบฉีดทุก ๆ 7 วัน ในตอนเย็น
  • นำใบสะเดา ข่า ตะไคร้หอม อย่างละ 1 กก.สับให้ละเอียด แล้วตำรวมกัน แช่น้ำ 20 ลิตร 1 คืน แล้วกรอง เอาหัวเชื้อที่ได้ผสมน้ำเปล่าในสัดส่วน 1:1 ฉีดไล่หนอนและแมลงในแปลงพืชผัก ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วันในตอนเย็น
  • นำเมล็ดสะเดาแห้ง ที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ด และเนื้อเมล็ด มาบดให้ละเอียด แล้วนำผงเมล็ดสะเดามาหมักกับน้ำ ในอัตราส่วน 1 กก. ต่อน้ำ น้ำ 20 ลิตร โดยใช้ผงสะเดาใส่ไว้ในถุงผ้าขาวบาง แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 วัน ใช้มือบีบถุงตรงส่วนของผงสะเดา เมื่อจะใช้ก็ยกถุงผ้าออก บีบถุงให้น้ำในผงสะเดาออกมาให้หมด ก่อนใช้ นำน้ำที่ได้ผสมน้ำสบู่หรือแชมพู แล้วนำไปฉีดพ่น
สาบเสือ เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้ หนอนใยผัก สามารถฆ่าแมลงและไล่หนอนได้เป็นอย่างดี
  • นำทั้งต้นมาตากแดดให้แห้ง หรือจะใช้สดก็ได้ นำมาตำให้ละเอียด ผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำหนักผง 400 กรัม ต่อน้ำ 3 ลิตร ถ้าเป็นต้นสดใช้ 1 กก. ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำสบู่ หรือแชมพู ครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน ในช่วงเย็น
สารภี เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อกะหล่ำ หนอนใยผัก หนอนแตงเทศ ด้วงงวงข้าว ไร เมล็ดแก่ ใบ เปลือก มีพิษต่อแมลงทางสัมผัส และทางกระเพาะอาหาร
  • นำเมล็ดแก่มาบดเป็นผง นำไปพ่น โดยใช้ผง 8-9 กรัม ต่อต้น การพ่นควรทำในขณะที่ยังมีหยดน้ำค้างเกาะอยู่
  • นำเมล็ดแก่มาบดเป็นผง นำผงที่ได้ 1 กก. ละลายในน้ำ 100 ลิตร ใส่น้ำสบู่ลงไปเพื่อจะได้จับเกาะใบได้ดี นำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง
หนอนตายหยาก หนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ หนอนหลอดหอม แมลงวันทอง รากมีสารใช้กำจัดแมลง
  • นำรากมาตำให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำมันมะพร้าว กรองเอาแต่น้ำใช้ฉีดพ่นแมลงในสวนพริกไทย หากใช้พ่นกำจัดแมลงอื่น ๆ ให้ใส่น้ำสบู่ลงไปเพื่อจะได้จับเกาะใบได้ดีขึ้น
  • นำรากมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ 200 กรัม ผึ่งให้แห้ง นำมาผสมกับน้ำ 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำใช้ฉีดพ่นแปลงผัก ป้องกันหนอนหลอดหอม
โหระพา เพลี้ยอ่อน แมลงวัน หนอนแมลงวัน หนอนเจาะหัวมันเทศ มีสารฆ่าแมลง ขับไล่แมลง และยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง
  • นำน้ำมันหอมระเหย 20 ซีซี. ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นผัก
*ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก http://www.tungsong.com/samunpai/insect/Index.html
**สารละลายที่มีความเข้มข้นมากไปอาจทำให้ใบไหม้ได้
***ไม่ควรใช้ฉีดกับพืชกลุ่มมะเขือ เพราะเนื่องจากเป็นพืชกลุ่มเดียวกันและอาจทำให้ติดโรคได้
แหล่งที่มาข้อมูล
แหล่งที่มาภาพ (ตามลำดับตัวอักษรอังกฤษ)
28-Spotted Ladybird Beetle Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Aphids R.J. Reynolds Tobacco Company Slide Set, R.J. Reynolds Tobacco Company, Bugwood.org
Assasin Bug http://www.malaeng.com/blog/?p=9688
Bean Fly Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Bean Lycaenid Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Beet Armyworm http://www.malaeng.com/blog/?p=1586
Brown Planthopper File Courtesy: RARS, Karjat, Photo Courtesy: Mr. Y. Kondal Rao (DRR)
Cabbage Caterpillar http://lepidoptera.butterflyhouse.com.au/lynf/lynf.html
Cabbage Worm Russ Ottens, University of Georgia, Bugwood.org
Coconut Leaf Beetle by Muhammad Haseeb, Florida A&M University
Coconut Rhinoceros Beetle HAH
Cotton Caterpillar http://www.nbaii.res.in/insectpests/Diaphania-indica.php
Cotton Stainer O.P. Sharma, Bugwood.org
Cowpea Weevil Clemson University - USDA Cooperative Extension Slide Series, Bugwood.org
Cucurbit Beetle http://www.natural-japan.net/photos/coleoptera/Aulacophora_indica_06.jpg
Diamondback Moth Clemson University - USDA Cooperative Extension Slide Series, Bugwood.org
Dragonflies Russ Ottens, University of Georgia, Bugwood.org
Earwigs Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Eggplant Boring Caterpillar http://www.nbaii.res.in/insectpests/Leucinodes-orbonalis.php
Flea Beetle Whitney Cranshaw, Colorado State University, Bugwood.org
Fruit Fly http://www.malaeng.com/blog/?cat=179
Geometrid http://bugs.bio.usyd.edu.au/learning/resources/Entomology/internalAnatomy/imagePages/looperCaterpillar.html
Golddust Weevil Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Green Jassid surender dalal
Green Lacewings Whitney Cranshaw, Bugwood.org
Green Looper Clemson University - USDA Cooperative Extension Slide Series, Bugwood.org
Green Stink Bug Hectonichus
>Hornet Jessica Lawrence, Eurofins Agroscience Services, Bugwood.org
Hornworm http://www.malaeng.com/blog/?p=1531
Hover Fly http://www.malaeng.com/blog/?p=9721
Lady Beetle Scott Bauer, USDA Agricultural Research Service, Bugwood.org
Legume Podborer Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org 
Legume Shield Bug Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Long-Legged Fly Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Mantis Adamantios
Mealybug USDA ARS Photo Unit, USDA Agricultural Research Service, Bugwood.org
Melon Fly Scott Bauer, USDA Agricultural Research Service, Bugwood.org
Mole Cricket University of Georgia Archive, University of Georgia, Bugwood.org
Predatory Mites HANS SMID
Predatory Stink Bug Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Red Palm Weevil Christina Hoddle, University of California - Riverside, Bugwood.org
Rice Stem Borer http://louisianacrops.com/2012/06/18/sugarcane-borer-versus-rice-stalk-borer-in-rice-2/
Rice Weevil Joseph Berger, Bugwood.org
Rose Beetle Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Silent Leaf Runner http://www.fobi.web.id/v/insect/f-gry/met-vit/Metioche-vittaticollis_NHS.jpg.html
Silver Leaf Whitefly Central Science Laboratory, Harpenden Archive, British Crown, Bugwood.org
Soybean Leaf Folder http://www.nbaii.res.in/insectpests/images/Omiodes-indicata7.jpg
Soybean Pod Bug Vengolis
Spider Gerald Holmes, Valent USA Corporation, Bugwood.org
Spined Legume Bug Merle Shepard, Gerald R.Carner, and P.A.C Ooi, Insects and their Natural Enemies Associated with Vegetables and Soybean in Southeast Asia, Bugwood.org
Sweet Potato Hornworm Heather Borman
Thrips http://news.ifas.ufl.edu/2012/12/push-pull-approach-could-keep-western-flower-thrips-off-peppers-ufifas-researchers-say/
Tobacco Budworm Gyorgy Csoka, Hungary Forest Research Institute, Bugwood.org
Tomato Leaf Miner Plant Protection Service Archive, Plant Protection Service, Bugwood.org
Tropical Armyworm GFDL,Creative Commons Attribution ShareAlike 2.1 Japan License